Now Reading
8 สัญญาณเตือน!! โรคซึมเศร้าที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว

8 สัญญาณเตือน!! โรคซึมเศร้าที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว

ต้องยอมรับว่ากระแสโรคซึมเศร้ากลายเป็นเรื่องที่หลายคนตื่นตัวและพูดถึงกันมากขึ้น โดยเฉพาะตลอดปี 2017 ที่ผ่านมานี้ ซึ่งเกิดปรากฏเหตุการณ์หรือข่าวการฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงวงการสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอเรื่องราวของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพื่อให้ผู้คนรับรู้และทำความเข้าใจอาการของโรคนี้และผู้ป่วยให้มากขึ้น

แม้โรคนี้จะมีอาการคล้ายกับปัญหาสุขภาพทางทางกายอื่น ๆ แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่สามารถสังเกตและแยกได้ว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากโรคซึมเศร้าหรือไม่ วันนี้พี่อะเครุอยากชวนสาว ๆ มาสำรวจตัวเองและคนรอบข้างดูว่าเรามีอาการหรือสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้าที่อาจเป็นโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า..

1. ไม่ดูแลตัวเอง

Pinimg

หากสังเกตเห็นคนที่เคยเนี้ยบตั้งแต่หัวจรดเท้า จัดข้าวของเครื่องใช้เป็นระเบียบ เป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว ดันปล่อยปละละเลยทุกสิ่ง ไม่ใส่ใจดูแลตัวเองเหมือนเก่า หรือหากใครรู้สึกว่าตัวเองไม่อยากแต่งตัวแต่งหน้าให้สวย ไม่อยากแม้แต่จะลุกขึ้นมาหวีผมให้ดี ๆ หรือรู้สึกว่าการมองเห็นตัวเองในชุดเดรสตัวเก่งเป็นเรื่องน่าเบื่อ ควรรีบพบแพทย์ด่วน ๆ เลยนะคะ เพราะพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นผลจากอาการซึมเศร้า แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรคทางจิตใจ แต่ก็ส่งผลต่อบุคลิกภาพได้ค่ะ โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะไม่ดูแลตัวเองและสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ เพราะขาดแรงจูงใจที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ รวมทั้งถูกครอบงำด้วยความรู้สึกที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเองนั่นเอง

2. คิดซ้ำ ๆ ย้ำไปย้ำมา

หนึ่งในสัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าก็คืออาการย้ำคิดย้ำทำ โดยผู้ป่วยโรคนี้มักคิดหรือพูดย้ำถึงปัญหาเดิม ๆ หรือเรื่องที่คิดซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้น นั่นก็เป็นเพราะรู้สึกไม่มั่นใจกับสิ่งที่เข้ามาในชีวิต การคิดหาคำตอบหรือพูดถึงเรื่องเหล่านั้นซ้ำไปซ้ำมาจึงเป็นเหมือนวิธีที่ช่วยสร้างความมั่นคง และทำให้รู้สึกว่าจะขจัดปัญหาที่มารุมเร้าได้ทั้งที่ปัญหานั้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริงก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น บางคนอาจมีพฤติกรรมหลอกตัวเองว่าการย้ำคิดย้ำทำเรื่องเดิม ๆ นั้นเป็นวิธีที่ช่วยหาทางออกของปัญหาหรือสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตได้

 

 

3. ขาดปฏิกิริยาโต้ตอบ

Pinimg

หลายคนคงสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักเฉื่อยชา เซื่องซึม ไม่หือไม่อือต่อเรื่องราวหรือสิ่งรอบข้างตามที่ควรจะเป็น ง่าย ๆ เลยลองดูว่าเมื่อต้องรับรู้หรือเผชิญกับเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจหรือรู้สึกตื่นตระหนก ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยบางรายอาจไม่แสดงความคิดเห็นว่าคิดอย่างไร หรือไม่แสดงอารมณ์และความรู้สึกข้างในออกมา นั่นเป็นเพราะอาการป่วยของโรคส่งผลให้พวกเขารับรู้และตีความสิ่งที่เกิดขึ้นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง อันส่งผลให้ไม่แสดงอาการโต้ตอบอย่างคนทั่วไป

4. ขยันหรือขี้เกียจเกินเหตุ

ความร้ายแรงของโรคซึมเศร้าสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ ซึ่งนับเป็นสัญญาณเตือนขั้นอันตราย หากจู่ ๆ รู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเหนื่อยหน่ายขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ ลืมนัดประชุมงานกับหัวหน้า จำวันสอบย่อยผิดอยู่บ่อย ๆ เคลียร์งานไม่ทัน หรือระบบการจัดการต่าง ๆ แย่ลง จนเพอร์ฟอร์มด้ารทำงานการเรียนตกลงอย่างเห็นได้ชัด ก็ขอให้ถอยออกมาพักก่อนนะคะ เพราะทั้งหมดนี้อาจเกิดจากภาวะซึมเศร้าที่เข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว นอกจากนี้ บางรายอาจเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม จากที่ไม่ค่อยตามงานเท่าไหร่ กลับขยันทำงานหามรุ่งหามค่ำ ตารางไม่ว่าง อัดเต็มทั้งงานราษฏร์งานหลวงมากเกินไป ก็น่าเป็นห่วงไม่ต่างกัน เพราะนี่ก็นับเป็นอาการซึมเศร้าอีกหนึ่งอย่าง ซึ่งทำให้รู้สึกไม่มั่นคงและกังวลใจจนต้องหาอะไรทำให้มากเข้าไว้ เพื่อหลีกหนีความรู้สึกเหล่านั้นและเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป

See Also
สูตรน้ำดีท็อกซ์ ลดหุ่น

5. ขอโทษไม่ขาด

ผู้ที่เกิดอาการซึมเศร้ามักเอ่ยปากขอโทษทุกเรื่องที่เขาทำให้ไม่ได้ ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่ใช่เรื่องใหญ่จนต้องขอโทษเลยก็ตาม เช่น เขาอาจหาเหตุผลมาอธิบายว่าไปเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ไม่ได้เพราะอะไร หรือทำไมถึงปฏิเสธไปเอาท์ติ้งกับเพื่อนร่วมงาน ทั้งหมดนี้เกิดจากความรู้สึกผิดในใจ การสรรหาคำขอโทษและเหตุผลมาอธิบายกับเรื่องที่เขาต้องปฏิเสธนั้นจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกผิดในใจ อีกทั้งยังเป็นวิธีปกปิดความรู้สึกที่เจ้าตัวรู้สึกว่าเป็นความอ่อนแอไว้ด้วย

6. รู้สึกไม่สบายเสมอ

จิตใจที่ไม่แข็งแรง ย่อมส่งผลต่ออาการทางกายได้ หลายครั้งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักรู้สึกเจ็บป่วยทางกายร่วมด้วย เช่น ปวดฟัน ปวดหัว มือเกร็ง เจ็บขา เป็นต้น แม้จะไม่ปรากฏผลการตรวจที่ยืนยันอาการเหล่านั้นชัดเจน แต่ความเจ็บปวดทางกายนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงสภาพจิตใจที่ไม่โอเค โดยสภาวะนี้เรียกว่าจิตสรีระแปรปรวนหรือ Psychosomatic Disease เกิดจากความวิตกกังวลและความเครียดภายในใจ ซึ่งส่งผลให้มีอาการป่วยไข้หรือไม่สบายทางกายได้ค่ะ

7. พูดแต่เรื่องนามธรรม

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวมักจะพูดถึงเรื่อง Abstract อยู่บ่อย ๆ คำพูดชวนงงเข้าใจยากประเภท ‘บางสิ่งบางอย่าง’ กำลังเกิดขึ้นอยู่เสมอ” หรือคำพูดทำนองว่า “มันดูกลวงเปล่าจริง ๆ นะ” แทนที่จะพูดออกมาตรง ๆ อย่างที่คนทั่วไปทำกันนั้น เป็นสิ่งที่เรามักได้ยินจากผู้ป่วยโรคนี้ ทั้งนี้ บางรายจะชอบพูดถึงเรื่องความหมายของชีวิตอยู่ไม่ขาด ซึ่งการคิดและพูดถึงเรื่องนามธรรมแสนคลุมเครือที่ว่าก็เป็นเหมือนการ Heal ตัวเองอย่างหนึ่ง โดยนักจิตวิทยากล่าวว่าหากผู้ที่มีอาการซึมเศร้าคิดถึงเรื่องทำนองนี้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจและมีความสุขมากขึ้น

8. ดูมีความสุขดี

บางครั้งคนคนนึงอาจไม่ได้รู้สึกมีความสุขอย่างที่เราเห็นเสมอไป เพราะบ่อยครั้งที่บางคนมักเลือกเก็บซ่อนอาการซึมเศร้าไว้ภายใต้ความคิดแง่บวก คนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเราเองอาจทำทีว่าเป็นคนมีความสุขที่น่าอิจฉาที่สุดในโลก ทั้งที่ในใจแทบจะยืนรับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาไม่ไหวอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะแค่ต้องการเลี่ยงที่จะพบเจอหรือรับฟังเรื่องราวแย่ ๆ อีกต่อไปเท่านั้นเอง อาการนี้นับว่าสังเกตได้ยากที่สุด เพราะเราต้องอาศัยความเชื่อใจและไว้วางใจมาก ๆ ถึงจะสามารถเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงและพูดคุยกับผู้ที่เกิดอาการซึมเศร้าได้อย่างตรงไปตรงมา

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสังเกตสัญญาณของโรคซึมเศร้าด้วยตัวเองเท่านั้น หากพบว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเกิดอาการดังกล่าวหรือเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ลองปรึกษาจิตแพทย์ดูก่อนนะคะ แม้สุดท้ายแล้วเราหรือคนรอบข้างจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้จริง แต่การปรึกษาหรือพูดคุยกับจิตแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรือเสียหายอะไร เพราะไม่ว่าจะป่วยทางกายภาพหรือสารเคมีในสมองไม่สมดุลก็ล้วนเป็นเรื่องสุขภาพที่ทุกคนมีโอกาสเป็นได้และไม่ควรมองข้ามค่ะ

View Comments (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published.

CAPTCHA


Scroll To Top