Now Reading
แนะนำวัคซีนตัวไหนที่วัยรุ่น – วัยทำงานควรฉีด ?

แนะนำวัคซีนตัวไหนที่วัยรุ่น – วัยทำงานควรฉีด ?

การฉีดวัคซีน เป็นสิ่งที่เราผ่านกันมาตั้งแต่เด็กยันโตเลยค่ะ เพราะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อป้องกันการติดโรคร้ายแรง มีวัคซีนหลากหลายชนิดมากที่เราจะต้องฉีดในวัยเด็ก ทั้งวัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก วัคซีนหัด เป็นต้น ซึ่งในวัยเด็กพ่อแม่หรือหมอจะเป็นผู้แนะนำให้ แต่พอเข้าสู่วัยรุ่น วัยทำงานก็ยังคงมีวัคซีนอีกหลายตัวที่เราควรฉีดป้องกันโรคต่างๆ ไว้ วันนี้พี่อะเครุได้รวบรวม 9 วัคซีนแนะนำสำหรับวัยทำงาน และวัยรุ่นควรฉีดมาฝากกัน

แนะนำวัคซีนตัวไหนที่วัยรุ่น – วัยทำงานควรฉีด ?

ก่อนอื่นต้องพูดถึงเรื่องปัญหาสุขภาพกันก่อนว่า โรคภัยหรือความเจ็บป่วยสามารถเกิดได้กับทุกๆ คนเลย ไม่ว่าเราจะดูสุขภาพแข็งแรงแค่ไหน เพราะฉะนั้นการหมั่นดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารมีประโยชน์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสุขภาพแข็งแรง และการฉีดวัคซีน ก็ยังเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ป้องกันการติดโรคบางชนิดได้อีกด้วย หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าตอนเด็กๆ ก็ฉีดวัคซีนครบแล้วยังต้องฉีดอีกหรือไม่ ที่จริงวัคซีนที่เราเคยฉีดไปตอนเด็กก็ไม่ได้สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นเมื่อโตขึ้นก็ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนอยู่ดีนะ

 โดยได้ข้อมูลจากตารางวัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่กลุ่มต่างๆ –  สมุดสุขภาพผู้ใหญ่ สำหรับโรคติดเชื้อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เรียบเรียงโดย รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ แล รศ. นพ. ชิษณุ พันธุ์เจริญ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบทความจาก โรงพยาบาลรามคำแหง

โดยหลักๆ แล้ววัคซีนที่วัยรุ่นและวัยทำงานควรฉีด จะมี 9 ตัว ส่วนหากไปท่องเที่ยว หรืออยู่ในกลุ่มบุคลากรทางแพทย์ก็จะมีวัคซีนแนะนำที่ต่างกันออกไปนะ

วัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่นี้ แนะนำให้ทุกคนฉีดปีละ 1 ครั้ง เพราะว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี โดยแนะนำให้ฉีดก่อนช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ คนที่มีน้ำหนักเยอะ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคมะเร็ง เป็นต้น และผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเดียวกับกลุ่มเสี่ยงด้วยนะ

วัคซีนอีสุกอีใส

วัคซีนอีกสุกอีใส สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส หรืองูสวัด แนะนำให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ส่วนผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสหรืองูสวัดแล้ว จะไม่เป็นโรคอีสุกอีใสซ้ำค่ะ *ห้ามฉีดในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

วัคซีนหัด -หัดเยอรมัน – คางทูม

หากใครที่ยังไม่เคยป่วยเป็นโรค 3 โรคนี้มาก่อน หรือยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบ แนะนำให้ฉีดวัคซีนหัด – หัดเยอรมัน – คางทูม 1 – 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน โดยผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จะได้รับวัคซีนหัด – หัดเยอรมัน – คางทูม จำนวน 2 ครั้งแล้วนะ *ห้ามฉีดในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

วัคซีนคอตีบ – ไอกรน – บาดทะยัก

แนะนำให้ฉีดวัคซีนคอตีบ – ไอกรน – บาดทะยัก โดยควรเป็นวัคซีน Tdap / TdaP หรือ aP 1 ครั้งเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไอกรน และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น dT / TT ทุก 10 ปี *โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีบาดแผลหรือทำงานเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก ฉีด 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่สอง 6-12 เดือน

วัคซีนตับอักเสบบี

แนะนำให้ทุกคนฉีดวัคซีนตับอักเสบบีจำนวน 3 ครั้ง โดยเข็ที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากครั้งแรก 6 เดือน  สำหรับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มมกันต่อเชื้อตับอักเสบบี โดยหากเป็นผู้ที่ติดเชื้อ เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นพาหะของโรค ที่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นจากสารคัดหลั่ง เช่น เพศสัมพันธ์ แม่สู่ลูกขณะคลอด การให้เลือด หรือการใช้ของร่วมกัน

หากมีประวัติมะเร็งตับ หรือมีผู้ติดเชื้อตับอักเสบบีในครอบครัว แนะนำให้ตรวจเลือดก่อนว่ามีการติดเชื้อตับอักเสบบีเรื้อรังไหม *โดยผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จะได้รับวัคซีนตับอักเสบบี จำนวน 3 ครั้งแล้ว

วัคซีนตับอักเสบเอ

โรคนี้ติดต่อทางอาหาร และน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ สำหรับวัคซีนตับอักเสบเอ แนะนำให้วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอาหาร  และผู้อยู่อาศัยในที่แออัด ฉีดวัคซีนตับอักเสบเอชนิดเชื้อตาย จำนวน 2 ครั้ง (ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน) หรือ วัคซีนตับอักเสบเอชนิดเชื้อเป็น 1 ครั้ง

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี

โรคนี้หลายๆ คนอาจจะยังไม่คุ้นหู แต่เป็นโรคที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ โดยประเทศไทยเราพบโรคนี้ได้ทั่วโลกเลย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ทำนาร่วมกับการเลี้ยงหมู โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อเป็นจำนวน 1 – 2 ครั้ง สำหรับคนที่ไม่เคยฉีด หรือเคยได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายแล้ว หรือฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตายจำนวน 3 คร้ง สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ *ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ได้รับวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีแล้ว

วัคซีนเอชพีวี

สำหรับผู้หญิงวัคซีนชนิดนี้จะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9 – 26 ปีฉีด โดยสำหรับเด็กอายุ 9 – 14 ปี และผู้ใหญ่ควรฉีด 3 ครั้ง และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 1 – 5 ปีในผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์หรืออายุ 35 ปีขึ้นไป

สำหรับผู้ชายที่เป็นชายรักชาย แนะนำให้ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีบริเวณทวารหนัก และการเป็นมะเร็งทวารหนัก

วัคซีนไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก ถือเป็นอีกโรคที่รุนแรงเพราะอาการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุงแรงของโรคได้ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกจำนวน 3 ครั้ง โดย ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 6 เดือน และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรก 12 เดือน โดยวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นสำหรับคนที่เคยเป็นไข้เลือดออก หรือมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีแล้ว

ทั้ง 9 วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่แนะนำให้วัยรุ่นและวัยทำงานฉีดนะ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และป้องกันการติดเชื้ออีกด้วย โดยก่อนไปฉีดแนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ก่อนจะได้ปลอดภัยที่สุด

ที่มารูปภาพ : Freepik, Freepik
View Comments (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published.

CAPTCHA


Scroll To Top