
เรื่องของเด็กแรกเกิดหรือทารกเป็นสิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรใส่ใจ เพราะเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิต ช่วงที่เด็กบอบบางที่สุด ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดเด็กๆ แทบจะไม่ได้ทำอะไรมาก เนื่องจากยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ใช้ในการปรับตัวระหว่างพ่อ แม่ และลูกน้อย วันนี้พี่อะเครุได้รวบรวม ‘เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด’ ที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้มาฝากกัน ทั้งอาการ พัฒนาการ โรคที่มักจะเกิดกับเด็กทารก รวมถึงการดูแลที่เราควรให้ความใส่ใจด้วย ตามไปเรียนรู้พร้อมๆ กันเลยค่ะ
อาการปกติของทารก
ช่วงหลังคลอดสัปดาห์แรกๆ เป็นช่วงที่เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลแทบทุกการขยับตัวของทารก ว่าลูกจะเป็นอะไรไหม หรือบ่งบอกอาการอะไร วันนี้พี่อะเครุเลยรวบรวมอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กทารก และไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใดมาฝากกัน
- เปลือกตาบวมไม่เท่ากัน
หลายคนเห็นลูกเปลือกตาไม่เท่ากันก็อาจจะตกใจ ว่าทำไมบวม ลูกแพ้อะไรหรือเปล่า ที่จริงแล้วเด็กแรกเกิดจะมีเปลือกตาบนที่บวมเล็กน้อยเป็นปกติ และอาการบวมนี้จะหายไปในหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้ากังวลว่าเด็กจะแพ้อาหารหรืออะไรก็สามารถไปพบแพทย์ได้เพื่อความสบายใจ
- นอนนานเกินไป
ถ้าเห็นเด็กแรกเกิดนอนเยอะๆ หรือรู้สึกว่านอนเยอะเกินไปหรือเปล่า ลูกเป็นอะไรไหม หยุดกังวลได้เลย เพราะเป็นเรื่องปกติที่เด็กทารกเพิ่งคลอดประมาณ 1 สัปดาห์จะนอนนานถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเด็กจะแบ่งการนอนเป็นระยะสั้นๆ ถึง 18 ครั้ง หรืออาจจะนอนยาวกว่านี้ อย่าปลุกลูกมาเล่นด้วยเลยนะ
- อาการสะดุ้ง ผวา
ในเด็กทารกจะมีอาการนอนสะดุ้งหรือผวาเวลาที่มีเสียงดัง หรือเวลาที่มีคนไปสัมผัสตัวตอนหลับ ไม่ต้องกังวลไป เพราะอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือน โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังอย่าส่งเสียงดังเวลาลูกนอนหลับ และหาผ้าห่มมาห่มถึงหน้าอก เพื่อช่วยลดอาการนอนสะดุ้ง ผวา และเพิ่มความอบอุ่น
- ผดร้อน
เด็กทารกอาจจะมีเม็ดผดเล็กๆ ตามท้ายทอย ซึ่งผดแบบนี้คือ ผดร้อน เกิดจากต่อมเหงื่อที่อยู่บนผิวหนังที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการอุดตันของท่อต่อมเหงื่อ ดังนั้นควรให้ทารกอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก จะได้ไม่ร้อนจนเหงื่อออกและมีผดขึ้น
- ลิ้นขาว
ถ้าลิ้นของเด็กมีสีขาวก็ไม่ต้องกังวล นั่นเป็นเพราะว่าเด็กทานนมแม่ อาการนี้จะไปหายเมื่อเด็กโตขึ้น ไม่ต้องเช็ดลิ้นนะคะ หรือไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะเจ็บ แต่ถ้าคุณแม่อยากเช็ดอาจจะใช้ผ้านุ่มๆ ชุบน้ำต้มสุกเช็ดเบาๆ
- ผิวหนังลาย
ทำไมลูกคลอดมาแล้วตัวดูเหี่ยวๆ ย่น ผิวหนังคล้ายกับร่างแห อาการนี้เกิดมาจากการที่หลอดเลือดดำย่อยกำลังขยายตัว ซึ่งจะหายไปและดีขึ้นเมื่อลูกอายุ 2 – 3 เดือน ระบบต่างๆ ในร่างกายจะทำงานได้สมบูรณ์ขึ้น
- อาการแหวะนม
ทารกบางคนอาจมีอาการแหวะนมออกมาหลังจากที่ทานนมอิ่มแล้ว เพราะหูรูดกระเพาะอาหารของเด็กยังปิดไม่สนิทมากนัก และระบบการย่อยอาหารยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้มีอาการแหวะนม อาการนี้จะดีขึ้นเวลาที่เด็กโตขึ้น และระบบย่อยอาหารของเด็กทำงานได้สมบูรณ์
พัฒนาการเด็กแรกเกิด
อย่างที่บอกไปว่าวัยเด็กทารกแรกเกิด ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ใหม่สุดๆ สำหรับคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ เราอาจจะเห็นเด็กทารกนอนทั้งวันแทบไม่ทำอะไรเลย แต่ที่จริงทุกนาทีเราสามารถช่วยสร้างเสริมพัฒนาการให้เด็กได้เช่นกัน และยังเป็นช่วงที่คุณแม่คุณลูกจะจูนเข้าหากันด้วยนะ
ด้านสติปัญญา
ช่วงที่เด็กเพิ่งคลอดต้องการนอนหลับเป็นเวลาประมาณ 18 ชั่วโมงต่อวัน การนอนหลับจึงสำคัญต่อการเจริญเติบโตทั้งต่อร่างกายและสมอง เพราะในขณะที่นอนหลับ ร่างกายจะหลั่ง Growth ฮอร์โมนออกมา ช่วยในการเจริญเติบโตและเพิ่มพลังงานให้สมอง ฉะนั้นอย่าไปปลุกลูกเด็ดขาด เพราะถ้านอนไม่เพียงพอหรือหลับไม่สนิทอาจส่งผลไม่ดีต่อการเจริญเติบโตได้
ช่วงนี้ทารกจะมีประสิทธิภาพในการมองเห็นที่ไม่ค่อยดีนัก มองได้แค่ลางๆ ไม่เกินระยะ 8 นิ้วเท่านั่นเอง และช่วงนี้ทารกจะเริ่มคว้าจับสิ่งต่างๆ ที่บังเอิญแตะได้ อย่างเช่น นิ้วมือของเรา และยังสามารถแยกรสหวานกับขมได้ด้วยนะ
ด้านร่างกาย
การขยับตัวของเด็กยังเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย เช่น ขยับแขน ขา กระพริบตา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวในรูปแบบปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เช่น ถ้าเรากางแขนกางขา เด็กก็จะห่อตัวกลับ หรือถ้าเราเสียงดัง ลูกก็จะผวา ช่วงนี้เด็กจะสามารถหันศีรษะไปอีกด้านหนึ่งได้บ้าง แนะนำให้คุณแม่อุ้มหรือนวดตัวเด็กเพื่อช่วยให้มีพัฒนาการด้านร่างกายและการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ด้านภาษาและการสื่อสาร
แน่นอนค่ะว่าทารกยังพูดไม่ได้ แต่จะสื่อสารผ่านการร้องเมื่อรู้สึกหิวหรือครั่นเนื้อครั่นตัว แนะนำให้คุณแม่รีบพิจารณาว่าเด็กร้องเพราะอะไรและอุ้มเขาเพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจ และทำให้อารมณ์ดีขึ้น
ด้านอารมณ์
เด็กแรกเกิดจะตื่นตัวในช่วงกลางวัน เพราะฉะนั้นพ่อและแม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับลูก สบตาสร้างความอบอุ่นและความคุ้นเคยกัน แต่เขาจะชอบฟังเสียงสูงของคุณแม่มากกว่าคุณพ่อในช่วงนี้ และอาจจะหาของที่มีลวดลายมาเล่นกับลูกดู เพราะเขาจะชอบลวดลายมากกว่าของเรียบๆ นะ
10 โรคที่มักเกิดในเด็กแรกเกิด
เด็กเล็กถ้าป่วยหรือเจ็บนี่เหมือนแก้วตาดวงใจถูกทำร้าย พ่อแม่แทบขาดใจ เพราะฉะนั้นเราควรรู้จักโรคที่เด็กแรกเกิดมักจะเป็นกันเพื่อหาวิธีป้องกันไว้ก่อน เนื่องจากในวัยนี้เด็กยังมีภูมิต้านทานที่ต่ำ แถมบางโรคอาจจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนอีกด้วย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ของเด็กวัยนี้ต้องรู้จักโรคเกี่ยวกับเด็กไว้เยอะๆ เลยนะคะ
ภาวะตัวเหลืองในทารก
โดยปกติเด็กแรกเกิดทุกคนจะมีอาการตัวเหลืองซึ่งมักจะเป็นประมาณ 4-5 วันหลังเกิด ระดับความเหลืองจะต่างกันไป แต่ถ้ารู้สึกว่าลูกตัวเหลืองมากเกินไปให้พาไปพบแพทย์ เนื่องจากถ้ามีอาการตัวเหลืองมากในระดับที่เป็นพิษต่อเนื้อสมอง อาจจะสร้างความเสียหายกับสมองถึงขั้น “สมองพิการ” ทำให้ทารกมีอาการชัก หลังแอ่น แขนขามีอาการบิดเกร็ง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรืออาจจะมีผลระยะยาวอย่างพิการทางการได้ยิน แขนขามีอาการเกร็งผิดปกติ และภาวะปัญญาอ่อน เป็นต้น โดยปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดภาวะตัวเหลือง เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอแล้วมีน้ำหนักตัวลดลง
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
อีกโรคที่สามารถพบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ โรคหัวใจพิการชนิดมีภาวะตัวเขียว และโรคหัวใจพิการชนิดไม่มีภาวะตัวเขียว ถ้าลูกของเรามีอาการริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ จมูกบาน หายใจแรงและเร็ว ดูเหนื่อย หน้าอกบุ๋ม ซี่โครงบาน ตัวเย็น มือเท้าเย็น ดูดนมได้ไม่นานแล้วหยุดเป็นพักๆ ให้พาไปพบแพทย์โดยด่วนเลยค่ะ
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดมักจะเกิดในพื้นที่ที่มีการบริโภคแร่ธาตุไอโอดีนน้อย ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดในเด็กแรกเกิดนี้ เป็นภาวะซ่อนเร้นที่เราไม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้จากภายนอก และถ้าไม่ได้รับการรักษาภายใน 2 เดือนหลังคลอด จะยิ่งทำให้เป็นผลเสียอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการของการเจริญเติบโตและระบบการทำงานของสมอง แล้วเด็กแรกเกิดจะกลายเป็นภาวะปัญญาอ่อนในที่สุด เราสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ต้องทานไอโอดีนให้เพียงพอ และตรวจเลือดทารกก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาลจะได้มั่นใจว่าเด็กไม่เสี่ยงเป็นภาวะนี้
ภาวะติดเชื้อในทารก
เด็กเล็กที่เพิ่งคลอดมีภูมิต้านทานต่ำ โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวน้อย จะทำให้มีโอกาสในการติดเชื้อสูงและเสี่ยงต่อการลุกลามไปยังบริเวณอวัยวะสำคัญ อย่างเช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น ถ้าเด็กมีภาวะติดเชื้อจะมีอาการซึม นอนนิ่งๆ ไม่ค่อยขยับตัว ตัวเย็น หายใจเร็วหรือหยุดหายใจจนตัวเขียวซีด ดูดนมได้น้อย บางรายอาจมีไข้หรือมีอาการเกร็งกระตุก หรือหากติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจทำให้ความดันเลือดต่ำหรือถึงกับช็อกจนมีโอกาสเสียชีวิตได้
ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว
ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้วเกิดจากการจัดเรียงตัวของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ที่มีลักษณะผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด จึงทำให้เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงผนังลำไส้เกิดการบิดขั้ว ซึ่งถ้าเข้ารับการรักษาช้าไปอาจจะทำให้เด็กเสียชีวิต คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตว่าถ้าลูกเริ่มมีอาการท้องอืด อาเจียน และถ่ายเป็นเลือด ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ภาวะทางเดินหายใจ
อีกโรคที่ต้องระวังเพราะเด็กแรกเกิดที่เพิ่งคลอดเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากการดำรงชีวิตด้วยแม่มาเป็นตัวเอง ดังนั้นการทำงานของปอด หรือระบบหายใจอาจจะยังทำได้ไม่เต็มที่ สำหรับเด็กที่คลอดปกติอาจจะไม่น่ากังวล แต่ถ้าคลอดก่อนกำหนดหรืออายุครรภ์ไม่ถึง 36 สัปดาห์อาจจะต้องดูการทำงานของปอดเป็นพิเศษ
น้ำตาลในเลือดผิดปกติ
ทารกที่น้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงผิดปกติมีสาเหตุใหญ่ๆ มาจากตัวคุณแม่เอง ถ้าคุณแม่เป็นเบาหวานในขณะที่ตั้งครรถ์ก็อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของทารกผิดปกติได้ หรืออาจจะเกิดจากตัวเด็กทารกที่คลอดมามีน้ำหนักต่ำกว่าหรือสูงกว่าเกณฑ์
อีสุกอีใส
โรคที่พบได้บ่อยในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาจติดจากแม่ตอนตั้งครรภ์ โดยเด็กจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับตอนที่มีไข้ โรคนี้จะหายได้เองใน 7 – 10 วัน แต่ก็ควรไปพบแพทย์นะคะ และอย่าลืมรับวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปีด้วย
ท้องเสีย
อาการนี้มักจะเกิดในทารกมีอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป เพราะจะเป็นช่วงที่เด็กชอบหยิบจับสิ่งของเข้าปาก อาจจะเกิดการติดเชื้อในทางเดินอาหารจนท้องเสียได้ ซึ่งเด็กทารกจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ถ้าติดเชื้อจะถ่ายเป็นมูกเลือดปนมาด้วย รวมถึงมีไข้สูง หนาวสั่น ริมฝีปากแห้ง ตาลึก เบื้องต้นให้คุณพ่อคุณแม่ให้ทารกดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยการขาดน้ำและควรไปพบแพทย์
ผื่นคัน
ผื่นคันจากการแพ้เป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่ก็สร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่ได้ ซึ่งผื่นมีหลายแบบ ทั้งแบบที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ หรือลมพิษ ในวัยทารกอาจจะเกิดบ่อยที่แก้ม คอ และแขนขา ส่วนการดูแล ถ้าทารกคันแต่ไม่มากก็ให้ทาโลชั่นหรือครีมลดอาการคัน แต่ถ้าไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์จะดีกว่า
การดูแลเด็กแรกเกิด
การดูแลเด็กทารกในช่วงที่เพิ่งคลอดเป็นสิ่งที่สำคัญสุดๆ แม้ช่วงแรกเด็กจะทำเพียงแค่นอนและตื่นมาเพื่อกินนม ไม่ได้ขยับอะไรมากนัก แต่เราก็ควรดูแลเจ้าตัวน้อยให้ดี ตั้งแต่การให้นมจนการดูแลทุกๆ อย่างเลย
- ให้นมลูก
ช่วงแรกเกิดทารกจะใช้เวลากับการนอนเป็นส่วนใหญ่ เด็กมักจะหลับทันทีที่กินอิ่มและตื่นมาดื่มนม วนลูปไปเรื่อยๆ ดังนั้นคุณแม่ควรปลุกลูกน้อยมากินนมทุกๆ 2 – 4 ชั่วโมง
- การอาบน้ำ
การอาบน้ำเป็นสิ่งที่ควรพิถีพิถัน อุณหภูมิของน้ำควรพอเหมาะ ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป และใช้เวลาในการอาบน้ำประมาณ 5 นาที เช้า-เย็น และอย่าลืมสระผมให้เด็กด้วยนะคะ ทั้งนี้ไม่ควรอาบน้ำหลังทานนมเสร็จทันที
- การขับถ่าย
เด็กเล็กจะขับถ่ายบ่อย ถ้าเด็กรู้สึกงอแงให้สังเกตเลยว่าอาจจะเกิดจากการไม่สบายตัวหลังจากขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมและทำความสะอาดด้วยสำลีชุดน้ำให้สะอาด
- ทำความสะอาดสะดือ
เนื่องจากช่วง 7 -14 วันหลังคลอด เป็นช่วงที่สะดือจะหลุด สำหรับเด็กคนไหนที่สายสะดือยังไม่หลุด ให้นำสำลีชุดน้ำเปล่าหรือน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดเบาๆ รอบโคนสะดือ วันละ 2 ครั้ง เมื่อสายสะดือหลุดก็ให้ทำความสะอาดด้วยการเช็ดและทำให้แห้ง ไม่โรยแป้งหรือยาโรยที่บริเวณนั้น
ทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นระวังและสังเกตไว้ เพื่อไม่ให้ดวงใจตัวน้อยของเราป่วยได้ เพราะเด็กอ่อนแอและบอบบางมากเมื่อเขาเพิ่งคลอด แต่ถ้ากังวลหรือไม่มั่นใจ พี่อะเครุแนะนำให้พาไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำจะดีที่สุด
Beauty Product Analyzer/Writer เป็นคนที่ชื่นชอบเกี่ยวกับครื่องสำอางถูกและดี ราคา คอยอัพเดทเทรนด์เครื่องสำอางใหม่ๆ ชอบลองของใหม่ๆ เลยอยากแนะนำให้คนอื่น จึงเริ่มเขียนรีวิวแนะนำเครื่องสำอางที่ดีและคุ้มค่ามากว่า 7 ปีแล้ว ชอบเรื่องราวเกี่ยวกับทริคที่ช่วยให้สาวๆ มีสุขภาพดี และชื่นชอบนักร้องและวงการเพลง K-pop กว่า 10 ปี