
ช่วงปีที่ผ่านมานี้พบว่าประชากรที่มีอาการของโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้านั้น บางคนเป็นแบบรู้ตัวและบางคนก็ไม่รู้ว่ากำลังตกอยู่ในสภาวะโรคนี้อยู่ และอาจจะสับสนระหว่างความเครียดกับโรคซึมเศร้า ต้องบอกก่อนว่าสองโรคนี้ไม่เหมือนกันนะคะ เพราะงั้นแนวความคิดของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริงจะแตกต่างจากคนที่มีภาวะความเครียดค่อนข้างเยอะ เอาเป็นว่าลองไปเช็กลิสต์ตัวเองกันก่อนว่า.. ตกลงแล้วลงคุณเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือแค่มีความเครียดกันแน่
ภาวะความเครียด (Stress)
ความเครียด คือ เรื่องราวนึกคิดที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ ของเรา และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยอีกด้วย อย่างเช่น นักเรียนเตรียมสอบ, ทะเลาะกับครอบครัว หรือการมีเงินไม่พอใช้ สาเหตุธรรมดาแบบนี้ที่ทำให้เราเกิดความเครียดได้อย่างมากมายมหาศาล และพบได้อย่างน้อย 80% ต่อช่วงอายุคนเลยทีเดียว ซึ่งความเครียดส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพจนเกิดผลกระทบต่างๆ ในชีวิต บางคนถึงกับนอนไม่หลับคิดกังวลเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมาจนต้องกินยาแก้เครียด (ควรทานเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น) แต่หลายคนเลือกที่จะกำจัดความเครียดด้วยตัวเองด้วยการออกไปช้อปปิ้ง หรือนัดเจอเพื่อน หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตได้อย่างปกติเช่นเคย เพราะฉะนั้นอาการแบบนี้ถือว่าเป็นแค่ ‘ความเครียด’ จากเหตุการณ์ที่ยังแก้ไม่ได้ ยังไม่ใช่โรคซึมเศร้าแน่นอน เพราะงั้นเราไปเช็กกันค่ะว่าคนที่มีความเครียดมักมีอาการอย่างไรบ้าง
อาการของคนที่มีความเครียด
- สมาธิสั้นลง จดจ่อกับสิ่งที่ทำไม่ค่อยได้
- นอนไม่หลับ
- ความจำสั้น
- ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไร
- อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายในเรื่องเล็กน้อย
- เบื่ออาหาร / กินเยอะผิดปกติ
- รู้สึกเหมือนจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปไม่ได้
- ไม่มีอารมณ์ทำงานหรือเรียนแบบปกติ
โรคซึมเศร้า (Depression)
โรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งที่ส่งผลต่อจิตใจอย่างรุนแรงจนถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตสูงมากๆ คนที่เป็นไม่ใช่ว่าจะผ่านเหตุการณ์บางอย่างไปได้ง่ายๆ เหมือนกับคนที่มีภาวะเครียดหรือคนปกติธรรมดาทั่วไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเขาจะจำฝังใจอยู่ในสมองและสามารถดึงมาคิดได้ทุกครั้งที่มีอาการท้อแท้ใจ บุคคลที่มีอาการของโรคซึมเศร้าจริงๆ บางครั้งเราแทบดูไม่ออกด้วยซ้ำ อาจจะมีบุคลิกภาพที่ดี เก่ง ฉลาด อารมณ์ขัน แต่ใครจะรู้ว่าในทุกๆ คืน บุคคลที่เป็นโรคนี้อาจคิดทำร้ายร่างกายตัวเองอยู่ตลอดเวลา
โรคซึมเศร้าไม่สามารถหายด้วยตนเองได้นะคะ การรักษาที่ดีที่สุดคือการไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะมีหลายสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า อย่างเช่นการเจอเรื่องเลวร้ายมาเป็นเวลาหลายปี สถานการณ์กดดันที่สุดในชีวิต หรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจหดหู่ยาวนานมาตลอดหลายปี และอีกหลายปัจจัย ทั้งหมดทั้งมวลนี้มีส่วนทำให้สารเคมีในสมองมีความผิดปกติกลายเป็นความเศร้าครอบคลุมจิตใจของคนเป็นโรคนี้อยู่ตลอดเวลา
อาการของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า
- สิ้นหวังและท้อแท้ตลอดเวลา
- เก็บทุกคำพูดที่ไม่ดีมาคิดกังวล
- ไม่มีแรงบันดาลใจในการทำทุกๆ อย่าง
- นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ
- ตัดสินใจทุกอย่างว่าเป็นเรื่องแย่ๆ
- คิดเสมอว่าตัวเองดีไม่พอ
- มองว่าตัวเองไม่มีค่า
- เหนื่อยตลอดเวลา
- ไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งที่ชอบได้
- รู้สึกผิด รู้สึกแย่ตลอดเวลา
- คิดถึงเรื่องไม่ดีที่เคยเกิดขึ้นตลอดเวลา
- ไม่สามารถก้าวผ่านหรือลืมเหตุการณ์บางอย่างไปได้แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย
- ส่งผลกระทบต่อชีวิตจนไม่เป็นอันทำอะไร
- อยากฆ่าตัวตาย
- มีอาการที่กล่าวมาข้างต้นต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
เพราะฉะนั้นเมื่อลองเช็กกันดูแล้วพบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงใดก็ตาม แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด บางอย่างไม่ควรเก็บไว้คนเดียว พอได้ระบายและพูดคุยออกไปบ้างอาจจะดีขึ้นก็ได้ หลายปัญหาอาจแก้ไม่ได้ในทันที แต่อย่างน้อยการที่มีคนรับฟังก็จะช่วยให้ทุกอย่างเบาลงได้เสมอ อย่าคิดว่าตัวเองอยู่ตัวคนเดียวในโลก หากรู้ตัวต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเลยนะคะ
cr : pakutaso
good day.