
คุณแม่ตั้งครรภ์เคยสงสัยกันไหมคะว่า ก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะลืมตาขึ้นมาบนโลกนั้น ตอนอยู่ในครรภ์มีพัฒนาการเป็นอย่างไร ขนาดตัวแค่ไหน มีการเจริญเติบโตด้านใดบ้าง วันนี้พี่อะเครุจึงจะมาไขข้อสงสัยให้คุณแม่ทุกคนได้รู้กัน เพื่อเตรียมตัวดูแลตัวเองในแต่ละช่วง อะไรทานได้อะไรทานไม่ได้ หรือกิจกรรมอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่แม่ๆ ทุกคนค่ะ
เมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่า ‘ตั้งครรภ์’

แพทย์ส่วนใหญ่มักเริ่มนับอายุครรภ์ของคุณแม่ หลังจากผ่านสัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไป (นับเป็นสัปดาห์แรกหลังประจำเดือนครั้งสุดท้ายหมดแล้ว) เพราะเป็นช่วงเวลาที่ตัวอ่อนของสเปิร์มมีการฟักตัว หรือทำการปฎิสนธิกับไข่เรียบร้อยแล้วค่ะ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วคนท้องจะมีอายุครรภ์ก่อนคลอดราว 1 – 38 สัปดาห์ (ประมาณ 9 เดือน) ไปดูพัฒนาทารก 3 ไตรมาส และอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงกันได้เลยค่ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 ไตรมาส
ไตรมาสที่ 1 สัปดาห์ที่ 1 – 12

สัปดาห์ที่ 1 – 4 ปฏิสนธิสมบูรณ์: สัปดาห์แรก ทางการแพทย์ยังไม่นับเป็นการตั้งครรภ์ที่แท้จริง ซึ่งหลังหมดประจำเดือนครั้งสุดท้าย ถึงจะเป็นการตั้งครรภ์อย่างสมบูรณ์ค่ะ ช่วง 1 – 4 สัปดาห์หรือเดือนแรกนี้จะเริ่มมีการปฏิสนธิ เส้นประสาทเล็กๆ กลายเป็นสมองและไขสันหลัง ร่างกายของคุณแม่จะสร้างถุงน้ำคร่ำ เจ้าเบบี๋จะได้รับการปกป้องและรับสารอาหารจากตรงนี้นั่นเองค่ะ พอเริ่มสัปดาห์ที่ 4 อวัยวะจะค่อยๆ ก่อตัวและเจริญเติมโตขึ้น อีกทั้งคุณแม่ที่ตั้งท้องแนะนำให้ทานอาหารประเภทดีเอชเอ (DHA) หรือ Docosahexaenoic Acid เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 พบได้ในปลาทะเลน้ำลึกชนิดต่างๆ เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ฯลฯ เพื่อช่วยการพัฒนาด้านสมองและสติปัญญาของลูกน้อยในเวลาต่อไป

สัปดาห์ที่ 5 – 8 สร้างระบบประสาทและสมอง: เข้าสัปดาห์ที่ 5 เนื้อเยื่อชั้นนอกจะเริ่มมีการสร้างระบบประสาท เริ่มที่สมอง เส้นประสาทสันหลัง ต่อมต่างๆ จะค่อยๆ กลายเป็นผิวหนัง เล็บ และฟัน เนื้อเยื่อชั้นกลางจะสร้างหัวใจและระบบที่ใช้หมุนเวียนเลือด ต่อมาเนื้อเยื่อชั้นในจะสร้างปอด ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ต่อมไทรอยด์ และระบบขับถ่าย คุณแม่จะมีรกซึ่งทำหน้าที่ส่งออกซิเจนและสารอาหารสู่ลูกน้อย พอสัปดาห์ที่ 6 – 8 อวัยวะต่างๆ จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ยิ่งตอนเต็ม 2 เดือน นิ้วมือนิ้วเท้าเริ่มเจริญเติบโตออกมาจากแขนและขาแล้วค่ะ ช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มเหนื่อย อ่อนเพลียง่าย และมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย เพราะระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น บางคนอาจนอนหลับไม่สนิท อาหารที่แนะนำให้ทานจะเป็นพวกโปรตีนจากเนื้อ นม ไข่ กรดโฟลิกอย่างถั่ว ธัญพืช มันฝรั่ง ฯลฯ และอาหารจำพวกแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้ง และงาดำ ฯลฯ

สัปดาห์ที่ 9 -12 หน้าตาเป็นรูปเป็นร่างขึ้น: เข้าเดือนที่ 3 เจ้าตัวเล็กจะมีอวัยวะครบ เห็นรูปทรงหน้าตาได้ชัดขึ้น ลิ้นกับฟันเริ่มงอกใต้เหงือกบ้างแล้ว หัวใจครบทั้ง 4 ห้อง กล้ามเนื้อและระบบประสาทเริ่มทำงานร่วมกัน สัปดาห์ที่ 10 เริ่มมีเล็บมือเล็บเท้าและเส้นผมบางๆ พร้อมกับสมองและหัวใจค่อยๆ โตขึ้น ช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มได้ยินเสียงหัวใจของลูกน้อยเต้นถี่ๆ ผ่านเครื่องอัลตร้าซาวน์ สัปดาห์ที่ 11 – 12 ขนาดตัวของทารกยาวมากกว่า 1 นิ้วครึ่ง นิ้วมือเล็กๆ ของเค้าจะเริ่มกำและแบได้ มีการดิ้นเคลื่อนไหวไปมา หูกับตาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง คุณแม่ควรทานผลไม้สด เช่น กล้วย ฝรั่ง และอาหารที่มีวิตามินบี 6 อย่างผักใบเขียว มันฝรั่ง ไข่ และส้ม ควรหลีกเลี่ยงอาหารกระป๋อง ปลาทะเลบางชนิดเพราะอาจมีสารปรอทในปริมาณที่สูง
ไตรมาสที่ 2 สัปดาห์ที่ 13 – 24

สัปดาห์ที่ 13 -16 รู้เพศของลูกน้อย: ช่วงเดือนนี้ คุณแม่ส่วนใหญ่จะลุ้นมาก เพราะจะได้รู้เพศของเจ้าตัวเล็กนั่นเองค่ะว่าจะเป็นลูกชายหรือลูกสาว จากภาพตรวจครรภ์ เริ่มมองเห็นเส้นเลือดดำและอวัยวะต่างๆ ผ่านผิวหนังบางใส ระบบปอดและทางเดินหายใจมีการพัฒนาขึ้น พอเข้าสัปดาห์ที่ 14 ลูกน้อยจะเริ่มมีการขยับร่างกาย แสดงอารมณ์ เช่น ขมวดคิ้ว ดูดนิ้ว ปัสสาวะ ขยับเปลือกตา และทำหน้าบู้บี้ (โดยการปัสสาวะนั้นจะถูกขับออกมาทิ้งในถุงน้ำคร่ำ) สัปดาห์ที่ 16 เจ้าตัวเล็กจะมีขนาดราว 4 นิ้วครึ่ง ขาสมบูรณ์เรื่อยๆ อาการเหวี่ยงและคลื่นไส้ของคุณแม่จะลดต่ำลง

สัปดาห์ที่ 17 – 20 ขยับตัวมากขึ้น: เป็นช่วงที่คุณแม่ต่างมีความสุข เพราะรอว่าเจ้าตัวเล็กจะดิ้นตอนไหน ควรจดบันทึกไว้สม่ำเสมอเลยนะคะ ถ้าหากลูกไม่ดิ้นต้องไปพบหมอในทันที ที่เป็นแบบนี้เพราะดวงตาของทารกจะเริ่มรับแสงได้ แขนกับขาสามารถเคลื่อนไหวได้มากกว่าเดิม ร่างกายมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกเดินไม่สะดวก เพราะหน้าท้องโย้ไปด้านหน้าของลำตัว ช่วงนี้ต้องเดินแบบระวังนะคะ ส่วนอาหารที่ทานจะเป็นจำพวกผักไฟเบอร์สูง เนื้อสัตว์ นม อาหารที่มีธาตุเหล็ก และผลไม้ ส่วนอาหารที่ไม่ควรทาน ได้แก่ ชีส ของหมักดอง ปลาทะเล สามารถทานแป้งได้เล็กน้อย

สัปดาห์ที่ 21 – 24 ตอบโต้กับคุณแม่: สังเกตไหมคะว่าช่วงนี้ลูกน้อยจะขยับตัวไปมามากกว่าเดิม เพราะร่างกายของทารกเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น ในอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 21 คุณแม่บางคนอาจมีสิวเห่อขึ้นเต็มหน้า เกิดจากต่อมไขมันที่ผลิตน้ำมันมากขึ้น วิธีดูแลคือล้างหน้าอย่างต่ำวันละ 2 ครั้ง ส่วนเครื่องสำอางหรือสกินแคร์ที่ใช้ต้องปราศจากน้ำมันด้วยนะคะ พอเข้าสัปดาห์ที่ 23 ทารกจะเพลิดเพลินไปกับการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น รับรู้เสียงดังจากด้านนอก ขนาดตัวจะยาวขึ้นราว 11 นิ้วแล้วค่ะ คุณแม่มักเริ่มมี “อาการบวมน้ำ” เพราะร่างกายผลิตน้ำมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ในสัปดาห์ที่ 24 สมองของทารกจะเติบโตขึ้น ตอนนี้เริ่มรับรู้รสชาติของสารอาหารแล้วล่ะ
ไตรมาสที่ 3 สัปดาห์ 25 – 33 เป็นต้นไป

สัปดาห์ที่ 25 – 28 กระพริบตาได้แล้ว: หลังจากรับรู้สิ่งรอบตัวผ่านประสาทสัมผัส ความรู้สึก และเสียงมานาน ก็ถึงคราวที่เจ้าตัวเล็กจะลืมตาได้แล้วค่ะ เพราะมีการพัฒนาระบบประสาทนัยน์ตาเกือบสมบูรณ์ แต่ยังเห็นภาพแค่เลือนลางนะ ส่วนหูก็สามารถแยกแยะได้บ้างว่าเสียงไหนเป็นเสียงไหน ช่วงนี้คุณแม่กับคุณพ่อสามารถชวนลูกน้อยคุย ร้องเพลงให้ฟังได้ด้วยนะคะ เค้าจะรับรู้อยู่เบาๆ ค่ะ ตอนนี้ลายมือของเจ้าตัวน้อยก็ชัดขึ้นแล้วนะ มีการหัดกำแบมือบ่อยขึ้นด้วย สมองของเค้าจะเติบโตจนเต็มกะโหลกศีรษะ

สัปดาห์ที่ 29 – 32 เจ็บท้องเตือนให้คลอด: น้ำหนักและขนาดตัวของทารกจะใหญ่ขึ้น เฉลี่ยน้ำหนักราว 1.3 กิโลกรัม ลำตัวยาว 15 นิ้ว ปอดเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ สมองและกะโหลกศีรษะใหญ่ขึ้น ช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มมีอาการเจ็บท้อง เหมือนเป็นสัญญาณเตือนเล็กๆ เนื่องจากมดลูกบีบตัวขึ้นค่ะ ทารกจะเริ่มปรับท่าทางให้อยู่ในตำแหน่งพร้อมคลอด คือ เอาศีรษะลงนั่นเอง ช่วงนี้เค้าจะเตะถี่ขึ้นด้วย บางครั้งคุณหมอจะให้คุณแม่นับด้วยว่าในแต่ละวันเจ้าตัวเล็กแอบซนกี่ครั้งบ้าง

สัปดาห์ที่ 33 เป็นต้นไป ลืมตาดูโลก: ทารกมีอวัยวะทุกส่วนครบ เส้นผมขึ้นเต็มศีรษะ รอวันลืมตาดูโลกเต็มที่แล้วค่ะ ช่วงนี้เป็นตอนที่คุณแม่เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับคลอด อาการของคุณแม่จะเริ่มอึดอัด นอนไม่สบาย มีอาการปวดชาที่นิ้วมือ ข้อมือ และเท้า ต้องบริหารโดยเหยียดบ่อยๆ หรือจะแช่น้ำอุ่นก็ได้นะ สักวันละ 5 – 10 นาที ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ถ้าถึงช่วงสัปดาห์ที่ 37 แล้วเจ้าตัวเล็กยังไม่คลอด ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะคะ สามารถรอได้ถึง 41 สัปดาห์เลยค่ะ ขึ้นอยู่ความพร้อมของทั้งตัวคุณลูกและคุณแม่นั่นเอง
พอคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมใส่ใจและดูแลตัวเองให้ถูกวิธีในแต่ละไตรมาสด้วยนะคะ เพื่อที่ลูกน้อยของเราจะได้เกิดมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง หมั่นทานอาหารดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และลองพูดคุยทักทายกับเจ้าตัวเล็กในท้องดูบ้างนะ วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้ความผูกพันของแม่-ลูก อบอุ่นแน่นแฟ้น สุขภาพจิตของคุณแม่ก็ดีขึ้นด้วยนะคะ
อ้างอิง: elfit.ssru
ที่มารูป: freepik
Beauty & Lifestyle Content Editor / Bibliophile / Food Lovers นักสะสมก้อนเมฆ ท้องฟ้า ดอกไม้ และการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ Art & Culture อาหารการกิน ไลฟ์สไตล์ สุขภาพ ธรรมชาติ สกินแคร์ และเครื่องสำอาง ชอบชีวิตที่เงียบสงบ แต่ออกไปเวิร์คช็อปบ้างเป็นครั้งคราว