Now Reading
ข้อเท็จจริงของแนวคิด Slow Life ดีจริงหรือแค่ทำเอาเท่

ข้อเท็จจริงของแนวคิด Slow Life ดีจริงหรือแค่ทำเอาเท่

หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวคิด Slow Life และไม่ได้รู้จริงๆ ว่ามันคืออะไร คนบางกลุ่มแค่ไปเที่ยวหรือไปนั่งคาเฟ่ฮิปๆ ก็เรียกสิ่งเหล่านั้นว่าวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์แล้ว แท้จริงแล้วสโลว์ไลฟ์มันมีอะไรมากกว่าการไปเที่ยวหรือไปนั่งคาเฟ่ฮิปๆ แล้วถ่ายรูปลง Social Network ตามคนอื่น ถ้าอยากรู้ว่า Slow Life คืออะไร ไปค้นหาคำตอบพร้อมๆ กันเลยค่ะ

แนวคิด Slow Life

Slow ตรงข้ามกับ Fast ซึ่งก็คือ fast food, fast money และ fast living หากสังเกตดีๆ คุณจะเห็นผลกระทบของ Fast ที่มีต่อชีวิตของคนในยุคสมัยนี้ เช่น โทษของฟาสต์ฟู้ดต่อสุขภาพ โทษของการทำธุรกรรมทางการเงินได้ง่ายขึ้น มันสะดวกก็จริงแต่ก็ทำให้คุณจ่ายเงินออกไปได้รวดเร็วยิ่งกว่าก่อนเช่นกัน เห็นไหมว่าอะไรที่ทำได้เร็วๆ หรือการใช้ชีวิตแบบเร็วๆ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีเสมอไป แต่เนื่องด้วยหลายๆ ปัจจัยในปัจจุบันที่บีบให้ผู้คนต้องทำส่งต่างๆ อย่างเร่งรีบ เราจึงต้องตระคิดได้แล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันดีต่อตัวเราจริงหรือไม่ จึงเกิดเป็นแนวคิด Slow Life ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในยุคที่สิ่งต่างๆ เร่งรีบนั่นเอง

Slow Life จึงเป็นส่งจำเป็นที่จะช่วยให้มนุษย์เรามีความเป็นอยู่ที่ดีได้ในสภาวะที่ทุกอย่างเร่งรีบไปหมดเช่นนี้ ถึงขนาดที่ว่าคนญี่ปุ่นที่ต้องพบเจอกับความเครียดและการแข่งขันด้านการทำงานเป็นอย่างสูง เรียกร้องให้รัฐบาลหาวิธีที่จะทำให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายดังเดิม และรัฐบาลก็ตอบรับด้วยการประกาศให้เมืองเล็กๆ บางเมืองนำวิถีชีวิตแบบ Slow life มาเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ เช่น เมืองคะเกะกะวะ จังหวัดซิซุโอะกะ หนึ่งในเมืองที่ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็น Slow Life City จากที่กล่าวมาเชื่อว่าทุกคนคงนึกภาพออกแล้วล่ะว่า Slow Life มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของเราเพียงใด

ข้อเท็จจริงของแนวคิด Slow Life

1. ไม่ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้หรือไม่อยากทำ

สิ่งที่ไม่อยากทำในที่นี้หมายถึงงานบ้านต่างๆ เช่น รีดผ้า ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ถูพื้น ทาสีบ้าน ซึ่งหากคุณไม่อยากทำหรือคิดว่าทำได้ไม่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะไม่เสียเวลาไปกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่ถนัดก็แค่จ้างคนที่ถนัดมาทำให้ เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องเสียแรงและเวลาไปกับสิ่งนั้น ก่อนจะทำอะไรให้ลองถามตัวเองดูก่อนว่าจำเป็นต้องทำอะไรที่ไม่อยากทำนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่..คุณก็คงรู้คำตอบอยู่แล้วล่ะ

2. ค่อยๆ ทำทีละอย่าง

การทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะทำให้เกิดความกังวลขึ้น และทำให้เราเร่งรีบทำอะไรไม่ถูกจนอาจจะรวนไปซะทุกอย่าง เช่น ตอนขับรถก็ขับรถอย่างเดียวพอ ไม่ต้องคุยโทรศัพท์ ฝึกภาษา หรือวางแผนถึงสิ่งต่างๆ ในขณะนั้น เปลี่ยนมาฟังเสียงมอเตอร์รถและเสียงหัวใจตัวเอง มองวิวข้างทางบ้าง เอนจอยช่วงเวลานั้นๆ จะดีกว่า

3. ปลีกตัวเองจากเสียงรบกวน

ผู้คนในยุคสมัยนี้เคยชินกับเสียงต่างๆ อาทิ เสียงโทรทัศน์และวิทยุ บางทีก็ชอบเปิดทิ้งไว้ทั้งๆ ที่ไม่มีใครฟังหรือดูอยู่ เสียงไลน์เด้ง อีเมลเข้า หรือเสียงแจ้งเตือนต่างๆ ทำไมไม่ลองปิดเสียงเหล่านั้นดูบ้าง? แล้วคุณอาจจะผ่อนคลายขึ้นก็ได้นะ

4. ออฟไลน์ตัวเองสักพัก

เนื่องด้วยเทคโนโลยีในสมัยนี้ที่ทำให้การติดต่อเป็นไปโดยง่าย ส่งผลให้คนเริ่มทำงานกันไม่เป็นเวล่ำเวลา เลิกงานแล้วแต่ก็ยังส่งไลน์ส่งอีเมลมาตามงานกันอยู่นั่น เสาร์อาทิตย์ก็มิวายไม่ได้พักจริงๆ เลยสักวัน สำหรับคนที่บ่นถึงสิ่งเหล่านี้..มีคนบอกให้คุณตอบไลน์หรืออีเมลเรื่องงานต่างๆ ในตอนนั้นทันทีหรือเปล่า ถ้าไม่..คุณก็วางไว้ก่อนแล้วค่อยตอบตอนถึงเวลาที่เหมาะสมก็ได้นี่นา ถูกไหมคะ

ตั้งเวลาไว้เลยว่าจะให้เวลากับเรื่องงานตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง แล้วหลังจากนั้นก็ออฟไลน์ไปเลย เพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากที่เจอเรื่องหนักๆ มาทั้งวัน คุณไม่ตอบแค่แป๊บเดียวบริษัทคงไม่เสียหายหรอก (กรณีที่ไม่ใช่งานด่วน) แต่ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ คนที่แย่อาจจะเป็นตัวคุณเองก็ได้นะ

5. เปลี่ยนเสียงเรียกเข้ามือถือเป็นเพลงเบาๆ จังหวะช้าๆ

สำหรับคนที่ใช้เสียงเรียกเข้าเป็นเพลงจังหวะเร็วๆ เคยรู้สึกถึงความเครียดจากเสียงริงโทนของตัวเองบ้างไหม? ลองเปลี่ยนไปใช้ริงโทนจังหวะช้าๆ ที่ทำให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย หรือดนตรีคลาสสิกแทน จะรู้สึกเลยว่าชีวิตผ่อนคลายสบายใจขึ้น รวมถึงเพลงที่ฟังเป็นประจำด้วยนะคะ

6. ใส่ใจรายละเอียดต่างๆ

ใส่ใจรายละเอียดและสนใจสิ่งเล็กๆ รอบตัวดูบ้าง เคยสังเกตไหมว่าน้ำที่พุ่งออกจากสายยางตอนล้างรถมันเต้นระบำสวยงามแค่ไหน? ตอนรถติดไฟแดงเงาสะท้อนที่กระจกเปลี่ยนไปยังไง? เคยดมกลิ่นดอกกุหลาบครั้งล่าสุดเมื่อไหร่นะ? ได้ให้เวลาคนที่คุณรักบ้างหรือเปล่า? ทานข้าวกับครอบครัวครั้งล่าสุดโดยไม่มีจอโทรศัพท์มือถือมาขั้นกลางคือตอนไหน? ลองสังเกตหรือนึกถึงสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ คิดทบทวนใช้เวลากับตัวเอง แล้วจะทำให้คุณคิดอะไรได้มากขึ้น

See Also

7. หาเวลาพักผ่อนบ้าง อย่าเอาแต่ทำงาน

ทำงานหนักมาทั้งปีก็ควรหาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองบ้าง ถือซะว่าเป็นการออฟไลน์และออกไปชาร์จพลังงานให้ตนเอง อย่าไปกังวลว่าไปเที่ยวแล้วจะเก็บเงินได้ช้า หรือเสียดายเงินที่เสียไป บอกแล้วไงว่าอะไรที่ทำเร็วๆ อาจจะไม่ได้ดีต่อตัวคุณเสมอไป

8. ทำงานอดิเรก

ในสภาพชีวิตที่เร่งรีบทำงานหนักของคนในยุคนี้ ทำให้เกิดความเครียดได้ง่ายมาก ดังนั้นคุณจึงควรค้นหาสิ่งที่ตนเองสนใจ แล้วลองเริ่มเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นดู เพื่อเป็นการคลายเครียดและผ่อนคลายสมองนั่นเอง

 “Slow living means slowing down and thinking twice before you do something,” said Orly Munzing.

ข้อดีและข้อเสียของ Slow Life

ข้อดี

  1. ทำให้ผ่อนคลายจากความเป็นอยู่ที่เร่งรีบในปัจจุบัน
  2. ได้หันมาใส่ใจตนเองมากขึ้น รู้ว่าสิ่งไหนที่ดีต่อตัวเราเอง
  3. คุณภาพชีวิตดีขึ้น หากทำตามแนวคิดอย่างถูกต้องเหมาะสม

ข้อเสีย

  1. ด้วยข้อจำกัดของบางคนอาจทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ได้ เช่น มีปัญหาเรื่องค่าใช้จึงต้องทำงานหลายอย่างจนไม่มีเวลาจะมีใช้ชีวิตช้าๆ เนิบๆ ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการบริหารเงินและเวลาที่ดี เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว เราค่อยเริ่มเอาแนวคิด Slow Life มาปรับใช้ก็ได้ค่ะ
  2. อะไรที่ทำแบบสุดโต่งอาจจะไม่ดีเสมอไป เราควรนำแนวคิดที่ว่านี้มาปรับให้เข้ากับการใช้ชีวิตของตนเอง ไม่ใช้ทำตามไปซะทุกอย่าง อันไหนที่ทำแล้วสบายใจก็ทำต่อไป แต่ที่ทำแล้วรู้สึกว่าไม่เวิร์คกับตนเองก็ไม่เห็นต้องทนทำเลยนี่นา

ทีนี้ก็รู้กันแล้วเนอะว่าถ้าอยากใช้ชีวิต Slow Life ต้องทำยังไงบ้าง ไม่ต้องเข้มงวดกับตัวเองมากก็ได้ค่ะ ค่อยๆ ทำค่อยๆ ปรับไป แล้วจะเห็นได้เลยว่าคุณภาพชีวิตมันดีขึ้นจริงๆ

ที่มา: slowlivingsummitlifehack, THANVEE.COM
View Comments (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published.

CAPTCHA


Scroll To Top