Now Reading
วิธีจัดการความคิดในหัว เอาชนะความเครียดและความหมกหมุ่น

วิธีจัดการความคิดในหัว เอาชนะความเครียดและความหมกหมุ่น

ในบรรดาล้านแปดความคิดที่เกิดขึ้นทุกวันในหัวของเรา มักจะมีส่วนหนึ่งที่ชอบก่อปัญหาไม่มากก็น้อยให้เราอยู่เสมอ ทำให้หลาย ๆ คนเหนื่อยกับอะไรต่อมิอะไรที่ในหัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความคิดในรูปแบบของความกังวล ความเครียด ความกลัว หรืออะไรทำนองนั้น คุณจะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ แต่ในบทความนี้ เราขอเรียกมันว่า “ความคิดจากจิตใจที่หมกมุ่น” แต่ว่า … หมกมุ่นกับอะไรล่ะ?

ความคิดจากจิตใจที่หมกมุ่น

ตลอดชีวิตเราเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์และหวังว่าจะนำไปใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาที่เราหวังว่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ความรู้ที่คิดว่าจะนำไปใช้ได้จริง หรือแม้แต่คำแนะนำที่จะเป็นประโยชน์และสามารถช่วยเราได้จริง ๆ โดยไอเดียที่เพิ่งกล่าวมานั้นมีที่มาจากปรัชญา “ปฏิบัตินิยม” (pragmatism) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ถูกคิดค้นขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในศตวรรษที่ 19 โดยศาสตราจารย์ Charles Sanders Peirce จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็น “ศาสดาของปรัชญาปฏิบัตินิยม”

ปฏิบัตินิยม หมายถึง ความรู้ที่มีประโยชน์และความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และจะกลายเป็นประสบการณ์ ทั้งยังมีความเชื่อว่า ความคิดเป็นเครื่องมือของการกระทำ นั่นหมายถึงว่าความคิดที่ดีจะต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ความคิดที่เอาไปใช้ไม่ได้ก็เป็นสิ่งไร้ความหมาย 

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาก็ได้มีนักปรัชญาด้านปฏิบัตินิยมที่โด่งดังมากที่สุดอีกคนหนึ่งอย่าง William James ที่กล่าวถึง ความคิด ความกังวล และความเครียดเอาไว้ว่า “อาวุธที่มีพลังมากที่สุดในการต่อสู้กับความเครียดก็คือพลังของการเลือกให้ความคิดหนึ่งอยู่เหนืออีกความคิดหนึ่งด้วยการควบคุมจิตใจตนเอง”

วิธีควบคุมจิตใจของตนเอง

นักปฏิบัตินิยมเชื่อว่า จิตใจของเรานั่นเองที่เป็นเครื่องมือชั้นดีที่จะช่วยเราได้ โดยที่เราต้องเป็นผู้ควบคุมจิตใจให้ทำงานเพื่อเรา ตามความต้องการของเราเอง ไม่ใช่ปล่อยให้จิตใจของตัวเองทำงานอยู่ฝั่งตรงข้ามและเอาแต่คอยโจมตีหรือต่อต้านเรา ทั้งนี้ทั้งนั้น หลาย ๆ คนที่ไม่สามารถควบคุมจิตใจตัวเองได้ส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่ามันเป็นไปได้ แล้วปล่อยให้ตนเองถูกครอบงำด้วยความคิดที่จัดการไม่ได้อยู่แบบนั้น

เหตุการณ์จำลองของความคิดที่มักวนอยู่ในหัว เมื่อเราไม่ยอมควบคุมมัน

“หัวหน้าฉันกำลังคิดอะไรอยู่นะ”

“จะเป็นยังไงถ้าฉันทำพลาดแล้วเสียงานนี้ไป”

“เธอจะรักเราบ้างไหม”

“ฉันว่าเขาไม่ได้สนใจหรือใส่ใจฉันเลยสักนิด”

“ฉันเอาแต่ทำพลาด”

“ทำไมชีวิตเรามันแย่แบบนี้”

“ทำไมชีวิตคนอื่นดูดี มีความสุขไปหมด”

“ถ้าวันหนึ่งฉันเป็นมะเร็งจะทำยังไง”

“คนอื่นจะคิดยังไงกับเรา”

“ฉันทำอะไรไม่เคยถึงเป้าหมายที่ตั้งเลยไว้ มันเกิดอะไรขึ้นกับฉัน”

แล้วมันก็จะยาวต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีจบสิ้นถ้าไม่หยุดพิมพ์ตอนนี้ หรือถ้าคุณลองนำไปถามใครสักคนหรือแม้แต่ตัวคุณเอง อาจจะเขียนออกมาได้ยาวเป็นกิโลหรือมากกว่า แล้วความคิดเหล่านั้นให้อะไรกับคุณบ้าง? มีเพียงความรู้สึกผิด ความโกรธ และทนทุกข์ อะไรทำนองนั้นหรือเปล่า?

 

คนเราไม่สามารถห้ามความคิดได้ (จริงหรือ?)

หลายคนบอกว่า “ความคิดมันห้ามไม่ได้ มันเป็นไปเอง หยุดคิดไม่ได้” แต่เชื่อเถอะว่าจริง ๆ แล้วคุณทำได้ เพียงแค่ต้องฝึกฝนกันสักหน่อย เพราะสิ่งนี้คือทักษะและความสามารถที่ฝึกกันได้ นั่นหมายความว่า คนเรามีความสามารถในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่เราต้องการจะ ‘คิด’ และ ‘ไม่คิด’ 

เมื่อพิจารณาร่วมกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราเรียนรู้มาตลอด ความสามารถดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดและนำไปใช้ได้จริงที่สุดในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนคนที่เคยใช้เวลาเป็นชั่วโมงจมอยู่กับความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ ให้กลายเป็น ‘คนเลือกคิด’ เฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้

 

See Also

ลักษณะของความคิดที่เป็นประโยชน์

William James ได้กล่าวไว้ว่า เกินครึ่งของความคิดในหัวคนเรานั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ ถ้าอย่างนั้นแล้วความคิดแบบไหนกันล่ะที่จะเรียกได้ว่าเป็นความคิดที่มีประโยชน์ตามหลักปฏิบัตินิยมที่ได้กล่าวไป แล้วควรทำอย่างไรถึงจะควบคุมให้ในหัวมีความคิดดีๆ เหล่านี้ได้? ลองมาดูกัน

1. ความคิดที่จะหาทางแก้ปัญหา

ปัญหาที่ว่านี้จริง ๆ แล้วเป็นเพียงคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ เราเลยต้องใช้ความคิดที่ตื่นตัวอยู่ตลอดในหัวเรามาช่วยแก้ปัญหาในชีวิตของเราให้หมดไป ใช้ความคิดอย่างคนมีสติและปัญญา ควบคุมความคิดให้อยู่ในขอบเขตของเรื่องที่ควรโฟกัส อย่าออกนอกประเด็นและปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปกับการตัดพ้อชีวิตหรืออะไรทำนองนั้นอีก

2. ทำความเข้าใจความรู้ใหม่ ๆ รอบตัว

ข้อนี้หมายถึงการซึมซับความรู้ใหม่ ๆ แล้วนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของตัวเองให้เกิดเป็นการสั่งสมประสบการณ์ ลองนึกถึงวิธีการนำความรู้ที่มีอยู่ แล้วนำมาพัฒนาชีวิตในด้านต่าง ๆ อย่างอาชีพ การทำงานหรือความสัมพันธ์ เป็นต้น

โฟกัสเพียงแค่ 2 ข้อนี้เท่านั้น แล้วตัดความคิดที่เหลือทิ้งไปให้หมดได้เลย

แต่หากคุณยังคงห้ามความคิดไม่ได้แล้วเผลอไปคิดอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองอยู่ นั่นหมายความว่าคุณยังไม่ได้ฝึกฝนความคิดและจิตใจของตัวเองมากพอ เพราะฉะนั้นเมื่อถูกรุมเร้าด้วยความคิดล้านแปดให้ลองหาทางออกมาจากหัวตัวเองก่อนสักพัก เบนความสนใจไปที่สิ่งอื่นรอบตัวดูบ้าง แล้วค่อยกลับมาจัดการกับความคิดตัวเองใหม่อีกครั้ง มิเช่นนั้นหากปล่อยไว้อย่างนั้นนานเข้า คุณอาจจะเป็นบ้าได้ (จริง ๆ นะ) 

 

 

ฝึกโฟกัสความคิดด้วย ‘การดีดนิ้วเรียกสติ’

สติ คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มรู้สึกตัวว่ากำลังถูกพัดให้ล่องลอยไปในห้วงความคิด คุณต้องดีดนิ้วเรียกสติกลับมาให้ได้ เมื่อสติมาปัญญาเกิดแล้วก็ลองสังเกตสมองที่กำลังทำงานหนักอยู่ให้ดี แค่ลองถอยออกมาก้าวหนึ่งแล้วสังเกตความคิดแสนวุ่นวายที่กำลังลอยตีกันอยู่ในหัวของคุณดู

แต่พึงระวัง! เมื่อพบเจอความคิดเจ้าปัญหาที่ไร้ประโยชน์เหล่านั้นแล้ว อย่าเพิ่งเริ่มตัดสินความคิดตัวเอง อย่าเพิ่งตัดสินว่าตัวเราคิดอะไรอยู่ทำไมถึงโง่เขลางี่เง่าแบบนี้ เพราะถ้าคุณทำแบบนั้นเท่ากับคุณกำลังเริ่มล่องลอยไป เสียเวลาอยู่ในความคิดที่ไร้ประโยชน์ของตัวเองอีกครั้งนั่นเอง

ตัวอย่าง: คุณควรทำอย่างไร..เมื่อรู้สึกว้าวุ่นและเสียใจกับสิ่งหนึ่งที่ทำพลาดไป

  • ความคิดล่องลอย: ทำอะไรลงไปนะ มันไม่ดีใช่ไหม แย่แล้วแน่ ๆ ไม่น่าทำแบบนั้นเลย 
  • ดีดนิ้วเรียกสติ: รู้ว่าว้าวุ่นเพราะรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันผิด 
  • สิ่งที่ควรทำ: ยอมรับว่าที่ทำลงไปนั้นผิด ถ้าหาวิธีแก้ไขให้ดีขึ้นได้ก็ทำ แต่ถ้าแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วก็จำเป็นไว้เป็นบทเรียนแทน
  • ข้อพึงระวัง: อย่าเอาแต่โทษตัวเอง เพราะมันจะพาคุณวนกลับไปที่เดิม ว่าทำไมฉันถึงทำแบบนั้น ทำไมไม่ทำอีกแบบหนึ่ง แล้วมันก็จะมีแต่ทำไม ทำไม ทำไม ที่ไร้คำตอบไม่จบไม่สิ้น

เพราะฉะนั้น อย่ากลับไปวนลูปเดิม! อย่าปล่อยให้มันเกิดขึ้น สิ่งที่คุณควรทำคือบอกกับตัวเองง่าย ๆ ว่า “คิดไปก็ไม่มีประโยชน์ โยนมันออกจากหัวแล้วกลับไปสู่โลกความเป็นจริงได้แล้ว” อย่าพยายามนำพลังลบมากดทับตัวเอง แต่เลือกนำพลังบวกที่จะช่วยให้คุณไม่ต้องสนใจสิ่งนั้นแล้วก้าวข้ามผ่านมันไปได้ เปลี่ยนความคิดตัวเองให้ได้แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ดังคำกล่าวของ William James ที่ว่า “ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนความคิดตัวเองได้ คุณก็จะสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้เหมือนกัน”

ถึงตรงนี้แล้วคุณคิดว่าตัวคุณสามารถควบคุมจิตใจตัวเองได้ดีพอแล้วหรือยัง ถ้าใช่ ก็ยินดีด้วยที่คุณกำลังควบคุมความคิดและจิตใจของคุณได้อย่างดี ไม่ได้ปล่อยมันให้เป็นไปในทางตรงกันข้าม แต่หากยังไม่ใช่ ก็อย่าเพิ่งรำคาญหรือโทษตัวเอง ให้เวลาตัวเองได้จัดการความคิดที่แสนวุ่นวายนั่นอีกสักหน่อย จากนั้นก็พยายามเป็นผู้ที่ควบคุมและใช้งานสมองของตัวเองให้ได้อย่างดีอยู่เสมอ เพราะอย่างที่คุณก็คงรู้ดีอยู่แล้ว ว่าสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีพลังมากที่สุดในโลกเลย

ที่มา: dariusforoux , phi342.wordpress
ที่มาภาพ: annamachtart  , hillergoodspeed  , copingwithpanic  , i.pinimg
View Comments (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published.

CAPTCHA


Scroll To Top