Now Reading
รีวิว ‘Clubhouse’ แอปฯ ที่พูดคุยกันผ่านเสียง ไม่อยากเอาท์แนะนำให้โหลด!

รีวิว ‘Clubhouse’ แอปฯ ที่พูดคุยกันผ่านเสียง ไม่อยากเอาท์แนะนำให้โหลด!

เมื่อไม่นานมานี้พี่อะเครุมีโอกาสได้เล่นแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ ‘Clubhouse’ แอปแช็ตรูปแบบใหม่ซึ่งมีฟังก์ชั่นสื่อสารกันผ่านเสียง และกำลังมีกระแสอยู่ในขณะนี้ค่ะ บอกเลยว่าเค้าเป็นแพทฟอร์มที่น่าสนใจมากๆ ใครที่กำลังสนใจว่าจะดาวน์โหลดมาใช้ดีไหม…ลองติดตามไปดูรีวิว ประกอบกับข้อดี-ข้อเสียของเค้ากันได้เลยค่ะ

Clubhouse คืออะไร

Clubhouse คือ แอปพลิเคชั่นแช็ตผ่านเสียง (Voice Chat) ที่ผู้เล่นสามารถเข้าร่วมได้ ก็ต่อเมื่อได้รับโค้ดเชิญเท่านั้น (ในเบื้องต้น 1 คน จะชวนเพื่อนเข้ามา Clubhouse ได้ 2 คน) แต่การเชิญใดๆ ก็ตาม มีเงื่อนไขว่าต้องผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือของคนคนนั้นนะคะ โดยผู้เล่นจะต้องแสดงตัวตนจริงในหน้าโปรไฟล์ เช่น ชื่อ-นามสกุล รวมถึงรูปดิสเพลย์ที่ใช้ แต่อย่างไรก็ตาม Clubhouse ยังไม่มีการอัปเดตระบบยืนยันตน ดังนั้นการที่เราจะไปติดตามใครต้องเลือกให้ดีๆ นะ เพราะเค้าอาจเป็นตัวปลอมก็ได้

ทำไม Clubhouse ถึงเป็นกระแส

Clubhouse ก่อตั้งโดย Paul Davison กับ Rohan Seth จาก Alpha Exploration Co. ถึงแม้ว่าแอปฯ จะเปิดตัวมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปีค.ศ. 2020 แต่เริ่มจุดกระแสทั่วโลกและในประเทศไทยเราขึ้นเมื่อ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจและวิศวกรชาวอเมริกัน-แอฟริกาใต้ชื่อดัง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX และผู้ก่อตั้งร่วมบริษัท Tesla Motors เปิดห้องสนทนาในคลับเฮาส์ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ทำให้มีผู้สนใจอย่างล้นหลาม โซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ติด Hashtag #Clubhouse และมีการแชร์ลิงก์เชิญเพื่อนอย่างกระหน่ำถล่มทลายกันเลยทีเดียวค่ะ (ดูจากภาพรวมยอดดาวน์โหลดทะลุ 8 ล้านครั้งในปัจจุบัน)

อย่างของไทยในตอนนี้บรรดาเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ดารา นักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ นักเขียน นักธุรกิจ นักการเมือง และประชาชนทั่วไป รวมถึงสายอาชีพในแวดวงการผลิตคอนเท้นท์ต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนในหัวข้อแบบเฉพาะเจาะจงกันมากขึ้น ในบางวันห้องที่ยอดนิยมเต็มเร็วมากค่ะ แนะนำว่าให้ตั้งเวลากันเผื่อไว้เลยนะ

Clubhouse เล่นยังไง

มาถึงตรงนี้ ใครที่สงสัยว่า “แล้ว Clubhouse เล่นยังไง?” ในคลับเฮาส์จะมีให้ผู้เล่นสร้าง ‘ห้องสนทนา’ ของตนเองขึ้นมา โดยที่เราสามารถตั้งชื่อห้องเป็นประเด็นต่างๆ ได้ เช่น สังคมและการเมือง, การออกกำลังกาย, ความสวยงาม & สกินแคร์, หนังสือที่ชอบอ่าน, ภาพยนตร์ในดวงใจ และเพลงที่ชอบฟัง ฯลฯ เพื่อให้ผู้เล่นคนอื่นเข้ามาร่วมวงพูดคุยในหัวข้อความสนใจเดียวกันค่ะ และการสร้างห้อง Clubhouse ยังตั้งวันและเวลาไว้ล่วงหน้าได้ด้วยนะ เพิ่มความสะดวกของคนที่อยากฟังเรื่องที่ตัวเองสนใจโดยไม่ต้องสุ่มเข้าไปให้เสียเวลาเลย

swishandflickTH

อย่างเมื่อไม่นานมานี้พี่อะเครุก็มีโอกาสได้เข้าร่วมห้องสนทนาของกลุ่มผู้สนใจภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ในหัวข้อ “Harry Potter กับสิ่งที่หนังไม่ได้บอก” เป็นการพูดคุยในประเด็น unseen ของภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ เช่น ทำไมเฮอร์ไมโอนี่ถึงมีเวทมนตร์ทั้งที่เกิดจากมนุษย์กับมนุษย์, รู้จักกับไม้กวาดประเภทต่างๆ และคนทั่วไปเห็นฮอกวอตส์เป็นอย่างไรในความเป็นจริง ฯลฯ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนถาม-ตอบ และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตัวเองอยากรู้แต่ไม่ได้ถูกพูดถึงในแฮร์รี่ พอตเตอร์

See Also

รู้จักกับสถานะในห้อง Clubhouse

ในห้องสนทนาหนึ่งๆ ของ Clubhouse จะมีตำแหน่งและชื่อเรียกต่างๆ จำแนกเป็น 3 สถานะดังนี้ค่ะ

  • Moderator (คนดูแลห้อง) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Mod ทำหน้าที่ในการสร้างห้อง จัดลำดับความสำคัญในประเด็นที่พูด รวมถึงจัดคนที่จะขึ้นมาพูดคุยด้วย สามารถควบคุม เช่น เปิดและปิดเสียงของใครก็ได้ที่อยู่ในห้องนั้นๆ
  • Speaker (คนพูดโต้-ตอบ) การที่จะขึ้นมาเป็นผู้พูดได้นั้น ต้องกดยกมือก่อน ที่ฟังก์ชันรูปมือด้านขวาล่างสุดของจอ โดย Moderator จะเป็นคนเลือกอีกทีว่าจะให้ใครขึ้นมาพูดบ้าง สะดวกตรงที่เลือกคนจากโปรไฟล์ได้ เสียงไม่ตีกันเวลาพูดคุยถกประเด็น
  • Listener (คนฟัง) คนฟังจะสามารถเลื่อนสถานะเป็น Speaker ได้ ก็ต่อเมื่อกดยกมือ ซึ่ง Mod ให้ห้องนั้นจะเลือกหรือไม่เลือกคุณให้ขึ้นมาเป็น Speaker ก็ได้

เช็กลิสต์ ข้อดี-ข้อเสีย ของ Clubhouse

ท้ายสุดนี้ เรามาสรุปการรีวิวกันว่า ‘Clubhouse’ มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง หวังว่าจะมีประโยชน์แก่เพื่อนๆ ที่กำลังเล็งอยู่ว่าจะเล่นหรือเอาอย่างไรต่อดี ไปดูกันเลยค่ะ

ข้อดี Clubhouse:

  1. พูดคุยแบบตรงประเด็นในเรื่องราวที่สนใจ สดใหม่ อินเทรนด์ ติดกระแสโลกปัจจุบัน
  2. เหมาะกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องใช้ Social Distancing
  3. ได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากหลายอาชีพ
  4. คัดเลือกเพื่อนหรือกลุ่มคนแบบเฉพาะเจาะจงได้
  5. หาก Mod จัดการดี จะมีไม่เสียงแทรกรบกวนจากผู้พูดในห้อง
  6. ฟังได้ทุกที่ทุกเวลา แม้อยู่บ้าน กำลังเดินทาง อาบน้ำ ทำสวน ฯลฯ
  7. ไม่ต้องแคร์เรื่องเสื้อผ้า แต่งหน้าให้วุ่นวาย แม้พึ่งตื่นนอนก็ฟังได้
  8. ตั้งเป็นห้องประชุม Meeting แบบเปิดได้
  9. ตั้งเวลาห้องสนทนาและเรื่องที่จะพูดคุยได้ สะดวกสำหรับผู้เข้าฟังที่ต้องการเวลาที่แน่นอน
  10. ให้ความเป็นส่วนตัว แอปฯ ไม่อนุญาตให้อัดเสียงผ่านการอัดหน้าจอ

ข้อเสีย Clubhouse:

  1. ต้องใช้รูปโปรไฟล์จริง ชื่อ-นามสกุลจริง อาจมีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว
  2. เพื่อนที่ติดตามเราอยู่สามารถเห็นว่าเราประจำอยู่ห้องไหน ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าเพื่อนกำลังฟังอยู่ห้องไหนได้เช่นเดียวกัน
  3. เรื่องที่พูดคุยจบไปแล้ว ไม่สามารถวนกลับมาฟังใหม่ได้ นอกจากจะมีการอัดเสียงแยกไว้
  4. หากห้องที่ Mod จัดการไม่ดี อาจเงียบเป็นเป่าสาก หรือ เสียงแทรกจนฟังไม่รู้เรื่อง
  5. ผู้ที่จะเข้าได้ต้องมีคนที่เล่น Clubhouse เชิญผ่านเบอร์มือถือเท่านั้น
  6. ห้องเต็มเร็วมาก หากผู้พูดเป็นคนดัง หรือหัวข้อสนทนากำลังเป็นประเด็นร้อน
  7. มี Account ที่ปลอมเป็นบุคคลสำคัญต่างๆ เนื่องจากแอปฯ ยังไม่มีระบบยืนยันตัว
  8. แช็ตเป็นข้อความ หรือ ส่งวิดีโอถาม-ตอบไม่ได้ อาจยากในการอธิบายสิ่งที่ต้องมีภาพประกอบ
  9. ผู้คนยังเล่นทั่วโลกไม่เยอะเท่าไหร่ หัวข้อสนทนาอาจขึ้นมาซ้ำๆ บนหน้าฟีดของเรา
  10. ถ้าถอดหูฟังทันที โดยไม่กดออก เสียงจะลอดมาโดยอัตโนมัติ

นับว่าเป็นแอปฯ ใหม่สุดอินเทรนด์ ที่น่าสนใจเลยทีเดียว กับ ‘Clubhouse’ ยิ่งช่วงโควิดที่ยังไม่ซาไปแบบนี้ การมี Social Distancing นั้นจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ใครที่อยากไปหาไอเดีย ฟังเรื่องราวหรือสนทนา แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ลองไปเล่นกันได้เลยนะคะ ที่ apps.apple ส่วนระบบ android ต้องรอหน่อยน้า มีข่าวแว่วๆ ว่าจะเปิดให้เล่นได้ในอนาคตด้วยค่า

View Comments (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published.

CAPTCHA


Scroll To Top