Now Reading
4 ท่านั่งต้องห้าม! เลิกนั่งได้แล้ว ถ้าไม่อยากปวดหลังเรื้อรัง

4 ท่านั่งต้องห้าม! เลิกนั่งได้แล้ว ถ้าไม่อยากปวดหลังเรื้อรัง

เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ไม่เคยเข้าใจเวลาที่ผู้ใหญ่บ่นว่าปวดหลังกันเลย ต้องมาให้เราช่วยนวดหรือเหยียบหลังให้ ยิ่งตอนนี้อาการปวดที่เรื้อรังของคนยุคนี้ที่ฮอตฮิตมากที่สุดคงหนีไม่พ้นอาการปวดหลังนั่นเอง ตั้งแต่ต้อง Work from home ด้วยแล้ว ไม่ค่อยได้ลุกเดิน ต้องนั่งนานๆ ก็ยิ่งเป็นง่าย แม้แต่คนอายุน้อยๆ ก็ยังเป็นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งบางครั้งกว่าจะรู้ตัวก็ปวดมากจนต้องไปนวดหรือหาหมอเสียแล้ว และอาการปวดหลังส่วนใหญ่นั้นก็เกิดมาจากท่านั่งด้วยท่าทางแบบผิดๆ นี่เอง มีท่านั่งแบบไหนที่จัดว่าต้องห้ามบ้างลองมาดูกันได้เลย

4 ท่านั่งที่เสี่ยงต่ออาการปวดหลัง

1. นั่งหลังค่อม

ดูเหมือนจะเป็นท่านั่งที่สบายๆ ไม่ต้องเกร็งหลัง ดูผ่อนคลายดีก็ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่แท้ที่จริงแล้วการนั่งหลังงอจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งและเกิดการคั่งของกรดแลคติก ทำให้ปวดเมื่อยบริเวณหัวไหล่ไปถึงสะโพก ทำให้รู้สึกไม่สดชื่นอ่อนล้าอยู่ตลอดเวลา ยิ่งนั่งเป็นประจำจะเกิดเป็นนิสัย และจะส่งผลทำให้กระดูกผิดรูปได้อย่างถาวร ทำให้ยิ่งแก่ยิ่งหลังค่อมอีกด้วย

  • วิธีแก้ไข
    หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าการนั่งตัวตรงอยู่ตลอดเวลาทำให้รู้สึกเมื่อย แต่การนั่งตัวตรงจะไม่เมื่อยเลย ถ้าเรานั่งหลังพิงกับพนักเก้าดีๆ เท้าวางกับพื้นอย่างพอดี ถ้าเก้าอี้ไม่พอดีกับหลังก็ลองหาหมอนมาสอดพิงไว้กับหลังสักหน่อย ก็จะทำให้รู้สึกว่านั่งตัวตรงได้สบายขึ้นนานขึ้นจนติดเป็นนิสัยได้ไปเองค่ะ

2. ท่านั่งไขว่ห้าง

เป็นท่านั่งที่ใครหลายๆ คนรู้สึกทำจนติดเป็นนิสัยค่อนข้างแก้ไขได้ยาก เพราะนั่งแล้วสบายดีรู้สึกผ่อนคลาย พอเผลอทีไรขาก็ไขว้กันโดยไม่รู้ตัวทุกทีเลย แต่การนั่งท่านี้ส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิตไม่ดีที่ขาและการทิ้งน้ำหนักที่ไม่สมดุล ก่อให้เกิดกระดูกสันหลังคดหรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเอาได้ เป็นท่านั่งที่ส่งผลร้ายแรงมากกว่าที่คิดจริงๆ ดังนั้นหากไม่อยากปวดหลังเช็กดูเลยว่าชอบนั่งท่านี้ไหม ถ้าเลิกได้ก็ควรเลิกนะก่อนที่อาการปวดหลังจะยิ่งรุนแรงมากไปกว่านี้

  • วิธีแก้ไข
    ลองหาของมาวางที่หน้าขาดู อาจจะเป็นตุ๊กตา หมอน กระเป๋า แฟ้มงานบางๆ เพื่อเป็นเสมือนการเตือนตัวเองไม่ให้นั่งไขว่ห้างได้ดี เพราะถ้าจะเผลอนั่งทีไรก็จะต้องติดของเหล่านี้เสียก่อน ทำให้ไม่สามารถนั่งไขว่ห้างได้ง่ายๆ แต่ถ้าไม่ใช้สิ่งของก็ให้วางมือไว้ที่หน้าขาแทน ค่อยจับขาเตือนตัวเองไม่ให้เผลอเอาขามานั่งไขว้กัน ค่อยๆ ฝึกทำไปเตือนตัวเองไปก็จะสามารถเลิก-ลดการนั่งท่าไขว่ห้างลงได้ค่ะ

3. ท่านั่งขัดสมาธิ

หลายๆ คนก็ติดนิสัยชอบนั่งท่านี้อยู่เป็นประจำ แม้ว่าจะกำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ หรือว่าบนโซฟา ท่านี้ก็เป็นท่าที่รู้สึกสบาย ปลอดภัยสำหรับหลายๆ คน แต่มันก็มีผลเสียรุนแรงแบบคาดไม่ถึงด้วย การนั่งท่าขัดสมาธิไม่ว่าจะบนเก้าอี้ โซฟา หรือเตียง ถ้าเราไม่นั่งค่อมก็จะเกร็งหลัง ยิ่งถ้าเกร็งหลังกล้ามเนื้อหลังจะทำงานหนักมาก ทำให้ปวดเมื่อยกระดูกสันหลังมีปัญหาเอาได้ อีกทั้งจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดีรู้สึกถึงอาการเหน็บชาได้เวลานั่งนานๆ เกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมตามมาได้ด้วย เป็นอีกท่าที่ไม่แนะนำให้นั่งจริงๆ

  • วิธีแก้ไข
    ต้องนั่งแบบพิงหลังได้ และเปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ ด้วย แต่เลิกนั่งท่านี้จะดีกว่าค่ะ

4. นั่งเก้าอี้ไม่เต็มก้น

การนั่งเก้าอี้ไม่เต็มก้นหรือหลังไม่พิงพนักเก้าอี้ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เราปวดหลังได้แม้ว่าการนั่งหลังค่อมจะไม่ดีแต่การนั่งแล้วหลังแอ่นจนกล้ามเนื้อเกร็งมากเกินไปก็ทำให้ปวดหลังได้เช่นเดียวกัน เพราะน้ำหนักจะไม่ไปสู่ก้นกบอย่างเต็มที่ กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งและพยุงน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา เป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังได้นั่นเอง

5. ท่านั่งยองๆ

การนั่งท่านี้ทำให้รู้สึกอึดอัด เลือดลมไหลเวียนไม่ดี ทำให้น้ำหนักไปอยู่ที่หัวเข่าและก่อให้เกิดปัญหากับกระดูกรองเข่ารวมถึงกระดูกข้อเท้าด้วย กระดูกมักจะขัดกันเมื่อมีการเคลื่อนไหวเร็วๆ อาจส่งผลให้มีอาการปวดข้อหรือข้อเข่าอักเสบเอาได้ แถมนั่งนานๆ ลุกแล้วจะหน้ามืดเอาด้วย อย่านั่งเลยดีกว่า

See Also

ท่าทางไม่ปวดหลัง

ท่านั่งที่ควรนั่ง คือ ท่านั่งแบบธรรมดานั่งให้หลังตรงพิงกับพนักเก้าอี้และมีที่เท้าแขนสามารถปรับระดับความสูงได้ หมั่นคอยเตือนตัวเองไม่ให้หลังงอ หรือหลังแอ่นเกินไป และควรลุกมาเดิน ยืดเส้นยืดสายเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ ชั่วโมง ก็จะห่างไกลอาการปวดหลังได้

อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าทำจนติดเป็นนิสัย ก็ส่งผลเสียในระยะยาวที่ทำให้อาจจะต้องกินยา ฉีดยา ฝังเข็ม กายภาพบำบัด หรือกระทั่งผ่าตัดเลยทีเดียว หากไม่ทำการดูแลให้ดี ดังนั้นอาจเริ่มที่การนั่งให้ถูกวิธีก่อน แล้วจะไม่มีอาการปวดหลังมาทำให้ต้องบ่นว่าปวดหลังเอาได้อย่างแน่นอน

ที่มารูป: xframe, freepik
View Comments (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published.

CAPTCHA


Scroll To Top