โรคที่เกี่ยวกับเท้าแบบไหนนะ ที่ทำให้การใช้ชีวิตของคุณจากการเดินด้วยขาทั้งสองข้างยากลำบาก? และอาการของมันล่ะมีอะไรบ้าง? และนี่คือ 10 อันดับโรคเกี่ยวกับเท้าที่เรามักจะเจอมันบ่อยๆ
1. แผลผุพอง
มั่นใจได้ว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักกับอาการนี้ เราต่างคาดหวังว่าในแต่ละวันเราจะเดินไปทำงานด้วยรองเท้าคู่ใหม่ด้วยความมั่นใจ แต่พอถึงตอนเย็นที่เท้าของเรากลับมีแผลพุพองเสมอ ซึ่งอาการแบบนี้มักเกิดจากการเสียดสี ความชื้น และแรงกดทับ โดยมันสามารถเกิดได้บนผิวหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เท้าของคุณ และถ้าเท้าของคุณยิ่งเสียดสีกันเป็นเวลานานผิวหนังชั้นนอกก็จะมีตุ่มน้ำใส ที่นำไปสู่การลอกออกและเป็นหลุม
ดังนั้นสิ่งสำคัญเมื่อเกิดตุ่มใสคือ ไม่ควรเจาะตุ่มน้ำใสเพราะจะนำไปสู่การติดเชื้อ แต่ควรใช้พลาสเตอร์ยาปิดแผลเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกทำให้แผลหายเร็วขึ้น แต่ถ้าตุ่มน้ำใสแตกและเป็นแผลอยู่แล้ว ให้ใช้ยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่แผลที่เปิด
2. โรคเบาหวานกับเท้า
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรให้ความสำคัญกับเท้าของคุณ กลุ่มอาการของโรคที่เรียกว่า เบาหวานที่เท้า เป็นอาการร่วมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดระดับน้ำตาลในเลือดมากเกินไปในระยะยาว อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรสำรวจเท้าทุกวันว่ามีอาการ เท้าบวม ปวดเท้าสีของเท้าที่เปลี่ยนไป มีแผลเปิด (แม้ว่าแผลจะไม่ใหญ่มาก แต่แผลจะลึก) หรือการเกิดแผลประเภทต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการของโรคที่อาจเกิดกับเท้า
วิธีการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานที่เท้าคือ ควรล้างเท้าให้สะอาดทุกวัน สวมใส่ถุงเท้าที่สะอาดและไม่ใช้ถุงเท้าที่รัดเกินไป ไม่เดินเท้าเปล่า เมื่อมีอาการผิดปกติที่เท้าควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที
3. ตาปลา
ตาปลามีสาเหตุมาจากการเสียดสีและถูกกดทับเป็นเวลานานในขณะที่คุณสวมใส่รองเท้า ซึ่งถ้าไม่รีบรักษาก็อาจเกิดอาการเจ็บปวดและเดินได้ไม่คล่องตัว คุณสามารถขจัดตาปลาได้เองด้วยวิธีการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นในบริเวณที่เป็นตาปลา และใช้แผ่นแปะหรือยาทาตาปลาอย่างสม่ำเสมอจนกว่ามันจะหลุดลอกออกไป ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมและการใช้ธูปจี้ตาปลาเพราะอาจจะทำให้แผลอักเสบและติดเชื้อได้
4. เล็บอักเสบ
เล็บอักเสบคือ อาการของเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ เล็บ บวม แดง กดแล้วเจ็บ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการถูกกดทับเมื่อคุณสวมใส่รองเท้า และการบาดเจ็บที่เท้าเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดแบคทีเรียและเชื้อราที่ทำให้เกิดการอักเสบของเล็บได้เช่นกัน จนทำให้เกิดการอักเสบและเป็นหนอง การแช่เท้าในน้ำอุ่น สามารถช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ เช่นเดียวกันหากคุณเติมสบู่ เกลือ หัวหอม หรือคาโมมายล์ก็จะสามารถช่วยลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การทายาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอก็สามารถช่วยแก้ปัญหาเล็บอักเสบได้
5. เชื้อราที่เล็บ
เล็บเท้าของคุณเปลี่ยนสีและหนากว่าปกติหรือไม่? ถ้าใช่ก็มีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจเป็นเชื้อราที่เล็บ อาการเชื้อราที่เล็บสามารถมองเห็นได้เป็นปกติเพราะเล็บเท้าของคุณจะมีสีเหลืองอย่างเห็นได้ชัด เชื้อราที่เล็บมักเกิดขึ้นกับเท้าของนักกีฬา เพราะเชื้อโรคสามารถเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บของเล็บเข้าสู่ผิวหนังที่อยู่ภายในเล็บได้
เชื้อราที่เล็บสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ไม่สามารถปล่อยทิ้งไว้ให้มันหายไปได้เองโดยที่ไม่ทำอะไร เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเชื้อราที่เล็บแล้วควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเชื้อราจริงๆ และตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุด คุณสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราที่เท้าได้ด้วยการล้างเท้าให้สะอาด ใช้ผ้าขนหนูแยกต่างหากเมื่อเช็ดเท้าของคุณ หมั่นทำความสะอาดกรรไกรตัดเล็บ ซักถุงเท้าให้สะอาดก่อนสวมใส่ในครั้งต่อไปอยู่เสมอ
6. กระดูกส้นเท้างอก
กระดูกส้นเท้างอก เป็นลักษณะของกระดูกที่งอกเพิ่มขึ้นมาจากส้นเท้า ซึ่งเกิดจากเท้าของคุณรับน้ำหนักตัวมากเกินไป เมื่อยืนหรือเดินจะทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้า และทำให้การใช้ชีวิตของคุณยากลำบากมากขึ้น การป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกส้นเท้างอกมีมากมายหลายวิธี แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การหมั่นฝึกการยืดกล้ามเนื้อ
แม้ว่าอาการกระดูกส้นเท้างอกจะใช้วิธีการรักษาด้วยแพทย์ แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้ก็ต้องหมั่นดูแลตัวเองควบคู่กันไปอย่างการพักผ่อนเท้า กายภาพบำบัด และเลือกรองเท้าหรือแผ่นรองเท้าที่ไม่กดทับส้นและมีพื้นรองเท้านิ่ม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
7. หูด
หูดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสทางผิวหนังที่มีชื่อว่า Human Papillomavirus (HPV) โดยที่เชื้อไวรัสจะกระตุ้นให้ผิวหนังของคุณมีตุ่มหนาและแข็งมากยิ่งขึ้น หูดแตกต่างกับตาปลาตรงที่หูดสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ นอกจากนี้เมื่อคุณใช้มีฝานหูดก็จะพบจุดเลือดออกเล็กๆ อยู่ใต้ผิวหนังคล้ายกับรากหูด คุณสามารถรักษาหูดได้ด้วยวิธีการทายาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิค การจี้เย็น และการเลเซอร์
8. เล็บขบ
เล็บขบมักเกิดขึ้นที่นิ้วโป้งเท้า สาเหตุของมันมักเกิดจากการตัดเล็บไม่ถูกวิธี การเกิดเชื้อรา รวมไปถึงการใส่รองเท้าที่บีบหัวนิ้วเท้ามากเกินไป ทำให้เนื้อที่อยู่ด้านข้างเล็บบีบเข้ามา และเกิดเล็บงอกเข้าไปในเนื้อจนเกิดอาการเล็บขบ คุณสามารถแช่เท้าในน้ำหรือน้ำเกลืออุ่นๆ และตัดเล็บส่วนเกินออกเพื่อไม่ให้มีสิ่งสกปรกตกค้าง แต่ถ้าหากเล็บของคุณมีอาการอักเสบรุนแรงก็ควรไปพบแพทย์
9. ภาวะหนังเท้าหนา
Hyperkeratosis หรือภาวะหนังหนาเป็นหนึ่งในโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด โดยภาวะหนังหนาจะมีผิวชั้นหนังกำพร้าแตก แห้ง และหนา ซึ่งเกิดจากแรงกดทับและแรงเสียดสี การที่ชั้นผิวหนังหนาจนฉีกขาดไม่เพียงแต่ทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราจนกระทั่งการเดินเหินที่ไม่สะดวก การแช่น้ำเกลือและใช้ขี้ผึ้งทาส้นเท้าสามารถลดอาการภาวะหนังหนาได้
10. เหงื่อออกที่เท้ามาก
เหงื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคเท้าเหม็น ซึ่งมันไม่ได้เกิดจากอากาศร้อนเพียงอย่างเดียวแต่เกิดจากภาวะที่เรียกว่า “ภาวะเหงื่อท่วม” ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติของร่างกายหรืออาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติก็ได้ อย่างเช่น การมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็ว คุณสามารถดูแลเท้าของคุณได้ด้วยการล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำเปล่าเพื่อฆ่าเชื้อโรคทุกวัน สิ่งที่สำคัญก็คือต้องเช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตามง่ามนิ้วเท้า
นอกจากนี้การสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม อย่างเช่น สวมใส่รองเท้าแตะในฤดูร้อนเพื่อลดอาการเหม็นอับ หรือการออกกำลังกายเป็นประจำก็สามารถลดการผลิตเหงื่อในระยะยาวได้เช่นกัน
วิธีการป้องกันไม่ให้เท้าของคุณเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาที่ดีที่สุดก็คือ หมั่นสังเกตุเท้าของคุณว่ามีอะไรที่ผิดปกติเกิดขึ้นบ้าง และดูแลเท้าของคุณให้มีสุขภาพเท้าที่ดีได้ด้วยการล้างเท้าด้วยสบู่ทุกวัน เช็ดเท้าให้แห้ง ทาครีมบำรุง และสวมถุงเท้าที่สะอาดทุกครั้ง เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้เท้าของคุณห่างไกล 10 อาการดังกล่าวที่ได้บอกเอาไว้ข้างต้นแล้วล่ะค่ะ
ที่มา: feetastic
หลงใหลในความเป็นญี่ปุ่น~ ชอบเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ ยินดีที่ได้รู้จักนะ : )