ไขข้อสงสัยที่คนอยากทำนมควรรู้ เสริมอกที่ไหนดี เสริมหน้าอกแบบไหนดี ราคาเสริมอก กับนพ. พลเดช สุวรรณอาภา (หมอหลุยส์) ศัลยแพทย์เฉพาะทาง ประจำจาเรมคลินิก (Jarem Clinic) พร้อมรวมรีวิวทำหน้าอกโดยหมอหลุยส์ เริ่มตั้งแต่เรื่องที่ทุกคนมักสงสัยกัน เช่น หากคิดจะเสริมหน้าอกควรนึกถึงเรื่องอะไรบ้าง ประเภทของการเสริมหน้าอกและซิลิโคน ปัญหาหลังการทำนม ความเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดและมะเร็ง วิธีการดูแลทรวงอกให้สวยนาน รวมถึงคำถามฮอตฮิต “ทำนมเจ็บเหมือนรถสิบล้อทับจริงหรือไม่!!?”
ในปัจจุบันคนเรากังวลเรื่องรูปลักษณ์และกล้าที่จะทำศัลยกรรมมากขึ้น จึงมีคลินิกศัลยกรรมเยอะแยะมากมายเป็นทางเลือกให้แก่เรา และศัลยกรรมที่คนนิยมทำอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น ‘ศัลยกรรมหน้าอก’ และด้วยความที่มีตัวเลือกเยอะ เวลาจะตัดสินใจทำศัลยกรรมใดๆ เราจึงต้องเลือกเยอะเป็นพิเศษ สาวๆ หรือสาวสองที่จะอัพไซส์จึงไม่ควรละเลยเด็ดขาด! แล้วก่อนทำหน้าอกควรคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง เพื่อความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหลังการผ่าตัด ไปพูดคุยกับคุณหมอหลุยส์กันเลยค่ะ
สารบัญ
- 1. ปัจจัยที่ต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก หากคิดจะทำนม
- 2. ประเภทของการเสริมหน้าอก เสริมอกแบบไหนดี
- 3. ทำหน้าอกแล้วมีผลต่อการให้นมบุตรหรือไม่
- 4. ผลข้างเคียงและปัญหาหลังเสริมหน้าอกที่พบเจอได้บ่อย
- 5. ความเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดรัดเต้านมซิลิโคน
- 6. ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง
- 7. อาการหลังผ่าตัด เจ็บแบบรถสิบล้อทับจริงหรือ
- 8. อายุของซิลิโคนหน้าอก ซิลิโคนแตกได้หรือไม่
- 9. ประเภทของซิลิโคนเสริมหน้าอก
- 10. วิธีรักษาทรวงอกให้สวยนาน/พฤติกรรมที่ทำให้นมหย่อนคล้อย
- 11. เสริมหน้าอกสาวประเภทสอง ต่างจากผู้หญิงทั่วไปอย่างไร
- 12. ข้อควรระวังของคนที่ทำนมใหญ่เกินความเหมาะสม
- รีวิวเสริมหน้าอกโดยหมอหลุยส์ (จาเรมคลินิก)
- คำแนะนำเพิ่มเติมจากคุณหมอ
1. ปัจจัยที่ต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก หากคิดจะทำนม
คุณหมอกล่าวว่า ควรเตรียมความพร้อมด้วยการถามตัวเองก่อนว่า “เพราะอะไรถึงอยากทำหน้าอก/มีจุดมุงหมายเพื่ออะไรในการทำศัลยกรรมต่างๆ” บางคนทำเพื่อเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ ซึ่งการขาดความมั่นใจอาจเกิดจากเพื่อนล้อก็เป็นได้ หรือทำเพื่อหน้าที่การงาน ทำงานในวงการที่ต้องโชว์สรีระเยอะๆ อย่างพรีตตี้ พีอาร์ และนางแบบ การเสริมหน้าอกก็เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้เราอีกทางหนึ่ง หรือบางคนอาจทำเพื่อเสริมบุคลิกที่หายไป เช่น คุณแม่ที่นมแฟบลงหลังมีลูก เพียงเท่านี้ก็หลากหลายเหตุผลแล้วว่าเราทำไปเพื่ออะไร
ทั้งนี้ในคุณแม่ก็มาเสริมหน้าอกเยอะเหมือนกัน เพราะผู้หญิงที่ผ่านการมีลูกมาแล้ว สรีระและฮอร์โมนจะเปลี่ยนไป ไม่สวยเหมือนเดิมก่อนมีลูก แล้วความมั่นใจก็จะเสียไปเช่นกัน และสิ่งที่ผู้หญิงกังวลที่สุดก็คือตัวสามีของเขาเอง บางคนก็อยากสวยเหมือนเดิมเพราะพอเลี้ยงลูกแล้วไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง เรื่องเหล่านี้ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวได้เช่นกัน
2. ประเภทของการเสริมหน้าอก เสริมอกแบบไหนดี
หมอต้องอธิบายก่อนว่า แผลจากการเสริมหน้าอกแบ่งออกเป็น 3 จุด ได้แก่ รักแร้ ใต้ราวนม และรอบปานนม ตำแหน่งของแผลก็คือประตูทางเข้าที่เอาซิลิโคนเข้าไป ว่าจะเอาซิลิโคนเข้าไปวางไว้ตรงไหนของร่างกาย โดยแผลแต่ละจุดก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป หน้าอกของเราจะมีส่วนของผิวหนัง เนื้อนม กล้ามเนื้อ กระดูก และหัวใจ เป็นชั้นๆ ไป แล้วจะเอาซิลิโคนไปวางไว้ที่ชั้นไหนก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและคำแนะนำของแพทย์
ส่วนประเภทของการเสริมอกจะมี 2 แบบ ได้แก่ เหนือกล้ามเนื้อและใต้กล้ามเนื้อ
เหนือกล้ามเนื้อ คือ การเอาซิลิโคนไว้บนกล้ามเนื้อ จะมีแค่เนื้อนมคลุมซิลิโคน ซึ่งในอนาคตหน้าอกอาจคล้อยได้ และเมื่อจะให้นมลูก พอเจอซิลิโคนถ่วงก็ยิ่งคล้อยเข้าไปใหญ่ แต่ในบางสภาวะที่คนไข้ต้องการฟื้นตัวเร็วหรือเป็นนักกีฬาที่มีเนื้อเยอะอยู่แล้ว การทำเหนือกล้ามเนื้อก็สวยเหมือนกัน เหมาะกับคนที่ต้องการไซส์ใหญ่ เพราะถ้าทำใต้กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อจะบังแล้วขยายไม่ได้ ดังนั้นถ้าอยากให้ใหญ่ 400-500 cc แนะนำให้ทำเหนือกล้ามเนื้อเพราะจะยืดขยายได้เยอะ หากไม่กลัวเรื่องแตกลายก็จะได้ขนาดที่ใหญ่กว่า ซึ่งถือเป็นข้อดีของการใส่ซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ
ใต้กล้ามเนื้อ คือ การวางซิลิโคนลึกลงไปที่ใต้กล้ามเนื้อ ถ้าเป็นประเภทนี้ก็จะไม่เกี่ยวกับเนื้อนม สามารถให้นมลูกได้ปกติและไม่ทำให้หน้าอกคล้อยด้วย ซึ่งหมอคิดว่าแบบนี้มีผลดีต่อรูปทรงของหน้าอกในอนาคตมากกว่า
3. ทำหน้าอกแล้วมีผลต่อการให้นมบุตรหรือไม่
สำหรับเรื่องการให้นมบุตร มาพูดถึงปัจจัยของขนาดหน้าอกกันก่อน การที่ผู้หญิงมีลูกแล้วจะให้นม สรีระย่อมเปลี่ยนไป หน้าอกจะใหญ่ขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าทำหน้าอกใหญ่มากๆ พอสรีระเปลี่ยนก็จะยิ่งเจ็บจนทำให้ให้นมลูกไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้เสริมจนใหญ่มาก ทำขนาดพอดีๆ ก็จะสามารถให้นมลูกได้ปกติ หรือก็คือไม่สามารถฟันธงได้ว่าหลังทำนมจะให้นมลูกได้หรือไม่ แต่ต้องดูรายละเอียดต่างๆ รวมถึงประเภทของการเสริมหน้าอกร่วมด้วย
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของเราตั้งแต่แรก ถ้าวางแผนจะมีครอบครัวหรือมีลูกไว้แล้ว ก็ควรทำขนาดพอดีๆ จะดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาแก้อีกครั้ง ซึ่งหมอมักจะถามคนไข้ก่อนทุกครั้งว่าทำหน้าอกไปเพื่ออะไร และจะแนะนำแบบที่เหมาะกับคนไข้ให้นั่นเอง
4. ผลข้างเคียงและปัญหาหลังเสริมหน้าอกที่พบเจอได้บ่อย
ปัญหาหลังเสริมหน้าอกที่พบเจอบ่อย แบ่งได้เป็นปัญหาระยะสั้นและระยะยาว
- ปัญหาระยะสั้น เช่น อาการเจ็บ เลือดคั่ง แผลปริหรืออักเสบ และอาการชา
- ปัญหาระยะยาว เช่น เกิดพังผืด หน้าอกคล้อย และมะเร็ง
5. ความเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดรัดเต้านมซิลิโคน
ต้องอธิบายก่อนว่าไม่ว่าจะใส่อะไรเข้าไปในร่างกาย ทั้งซิลิโคนหน้าอกหรือจมูก ร่างกายจะสร้างเซลล์ขึ้นมาล้อมรอบเป็นพังผืดตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ทุกคนต้องมี แต่ถ้าเป็นพังผืดบริเวณเต้านมจะแบ่งเป็น 4 ระดับ ระดับ 1-2 จะแค่ตึงนิดหน่อยๆ แต่ 3 นมจะแข็งเป็นหินทั้งเต้า และพอเป็นระดับ 4 จะมีอาการเจ็บ ซึ่งระดับที่ 3 และ 4 ต้องรีบรักษา
โดยพังผืดเต้านมเกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- แพทย์ที่ผ่าให้ ผ่าดีหรือไม่ ถ้าผ่าโหดแบบมีเลือดคั่งและอักเสบ อนาคตจะเป็นพังผืด
- ความสะอาด เชื้อแบคทีเรียก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพังผืดได้เช่นกัน รวมถึงสถานที่และเครื่องมือผ่าตัดควรถูกต้องตามหลักวิชาการ
- วัสดุอุปกรณ์ ซิลิโคนควรเป็นของที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ
ดังนั้นถ้าอยากลดโอกาสการเกิดพังผืดก็ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกคลินิกหรือสถานที่ทำนมเลย เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาในระยะยาว
วิธีการรักษาพังผืดจากการเสริมหน้าอก นวดป๊อกนมสลายพังผืดได้ผลจริงเหรอ?
พังผืดรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเพียงเท่านั้น การนวดหรือป็อกนมไม่สามารถทำให้พังผืดสลายได้ หากนวดแล้วนิ่มนั่นแสดงว่าซิลิโคนแตก ซึ่งการผ่าตัดก็คือผ่านำซิลิโคนออกมาและต้องเปลี่ยนซิลิโคนใหม่ด้วย แต่ถ้าเลือกคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐานแล้วใช้ซิลิโคนเดิมใส่กลับเข้าไปเพื่อความประหยัดก็จะไม่ถูกต้องและไม่เป็นผลดีต่อตัวคนไข้เอง
6. ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง
ความเสี่ยงเป็นมะเร็งในคนที่เสริมหน้าอกคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหายาก หรือ BIA-ALCL (BREAST-IMPLANT ASSOCIATED ANAPLASTIC LARGE CELL LYMPHOMA) ซึ่งไม่ใช่มะเร็งเต้านมที่น่ากลัวแบบที่หลายๆ คนเข้าใจกัน BIA-ALCL คือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ระหว่างซิลิโคนกับเนื้อนมข้างใน โดยมีพังผืดหุ้มอยู่อีกรอบหนึ่ง หรือก็คือต้องเริ่มเป็นพังผืดก่อนจึงจะมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้ ซึ่งพบได้น้อยมาก มีโอกาสพบใน 1 ต่อ 30,000 บางคนที่มะเร็งอาจยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็น เพราะจะพบว่าเป็นพังผืดก่อนแล้วพอเรารักษาพังผืดเรียบร้อยแล้ว ก็ถือเป็นการรักษามะเร็งชนิดนี้ด้วย แต่ถ้ามะเร็งเต้านมที่เป็นก้อนนั้นยังไม่เคยเกิดในคนที่เสริมหน้าอก
7. อาการหลังผ่าตัด เจ็บแบบรถสิบล้อทับจริงหรือ
สำหรับเรื่องนี้หมอถือว่าเป็นความเชื่อจากการที่บางสถานที่เสริมหน้าอกให้คนไข้แบบไม่ดูความเหมาะสมของตัวคนไข้ ยกตัวอย่างง่ายๆ โดยการเปรียบเทียบรูปร่างคนเรากับกล่อง กล่องของแต่ละคนก็มีขนาดไม่เท่ากัน แล้วถ้ายัดซิลิโคนที่ใหญ่เกินตัวเข้าไป กล่องก็จะแน่นเต็มที่เลยทำให้เจ็บมากและเกิดเลือดคั่ง อักเสบหลังผ่าตัด อย่างที่เปรียบกันว่าเหมือนโดนรถทับ แต่ถ้าเราใส่ขนาดพอดีก็จะไม่เจ็บหรือเจ็บน้อยกว่า นอกจากนี้วิธีการผ่าตัดก็มีส่วน ถ้าทำอย่างถูกต้องตามหลักการเป็นขั้นตอน หลังผ่าตัดก็จะไม่เจ็บมาก สรุปคืออยู่ที่ความเหมาะสมของรูปร่างแต่ละคนและเทคนิคของหมอด้วยนั่นเอง
8. อายุของซิลิโคนหน้าอก ซิลิโคนแตกได้หรือไม่
ในอดีตซิลิโคนที่ไม่มีคุณภาพก็มีโอกาสแตกหรือรั่วซึมเองอยู่แล้วหรือเกิดจากการบีบอัดที่รุนแรงตอนใส่เข้าไปตั้งแต่ต้น พอเสียทรงเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ความแข็งแรงก็น้อยลง แต่ในปัจจุบันนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนซิลิโคนแล้ว ถ้าทำแล้วดูแลดีก็สามารถอยู่ได้นานเลย คนส่วนใหญ่จะมาเปลี่ยนเพราะไม่พอใจกับขนาดซะมากกว่า เช่น เบื่อแล้วเพราะนมใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือบางคนเคยเสริมหน้าอกแบบเหนือกล้ามเนื้อไป แต่พอเห็นคนอื่นทำแบบใต้กล้ามเนื้อแล้วสวยกว่า ดูธรรมชาติกว่าก็อยากเปลี่ยนบ้าง
9. ประเภทของซิลิโคนเสริมหน้าอก
ประเภทซิลิโคนเสริมหน้าอกสามารถแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่ แบ่งตามรูปทรงและแบ่งตามวัสดุด้านใน
การแบ่งตามรูปทรง
- ทรงกลม
- ทรงหยดน้ำ
การแบ่งตามวัสดุด้านใน
- น้ำเกลือ
- ซิลิโคนเจล
ตอนนี้ในประเทศไทยไม่มีคนใช้แบบน้ำเกลือแล้ว บางคนอาจจะคิดว่าถ้าแตกน้ำเกลือจะปลอดภัยกว่าซิลิโคนเจลหรือเปล่า แต่ไม่ต้องกังวล เพราะปัจจุบัน Motiva (โมทิวา) เขาทำแบบที่ต่อให้แตก ซิลิโคนเจลก็ไม่ไหลออกมา เลยทำให้คนไม่เลือกแบบน้ำเกลือกันแล้ว ส่วนทรงกลมและหยดน้ำนั้นต้องดูจากด้านข้าง ในลักษณะลำตัวตั้งตรง ซึ่งแบบหยดน้ำจะดูธรรมชาติกว่า แต่ส่วนตัวแนะนำทรงกลมเพราะหมอหลุยส์สามารถใช้เทคนิคออกแบบเฉพาะตัวให้ดูสวยธรรมชาติเหมาะกับรูปร่างได้
10. วิธีรักษาทรวงอกให้สวยนาน/พฤติกรรมที่ทำให้นมหย่อนคล้อย
หมอแนะนำว่าช่วงแรกสำคัญที่สุด แต่ตั้งการปรึกษากับคุณหมอ คือคุณหมอต้องดูให้ออกว่าหน้าอกของคนไข้คล้อยมากหรือน้อย แล้วเลือกซิลิโคนและวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมให้ก่อน เพราะถ้าเลือกให้ไม่เหมาะสมในระยะยาวหน้าอกก็จะโดนดึงรั้งและเสียทรงได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ต่อให้เราไม่ทำอะไรก็ตาม ตัวอย่างเช่น ถ้าคนตัวเล็กมากๆ ทำหน้าอกใหญ่เกินตัว เนื้อนมก็จะโดนดัน พอเนื้อนมหายไปนมก็เหี่ยวและคล้อยหนัก ยังไม่ได้ทำอะไรก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว
แต่ถ้าเริ่มต้นอย่างถูกต้องทุกอย่างแล้วคือเลือกซิลิโคนและผ่าตัดวิธีที่ถูกต้อง ก็อยากให้ดูแลช่วงหลังผ่าตัดแรกๆ อย่างจริงจัง ควรใส่บรารัดทรวงอกให้เข้ารูป พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ อย่าเดินทางเยอะเพราะอาจอักเสบได้ อย่ากดแรงๆ หรือออกกำลังกาย รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงแรกเพราะเป็นการกระแทก ควรรอหลัง 1-3 เดือนหลังผ่าตัดก่อน แล้วแต่คนว่าแผลหายเร็วหรือช้าแค่ไหน
11. เสริมหน้าอกสาวประเภทสอง ต่างจากผู้หญิงทั่วไปอย่างไร
สาวประเภทสองจะมีหัวนมห่างจากตรงกลางมากกว่าผู้หญิง การทำหน้าอกจะทำให้เนื้อตึงมาก หมอจึงไม่แนะนำให้ทำแบบเหนือกล้ามเนื้อเพราะไม่ปลอดภัยเป็นอย่างมาก ควรทำแบบใต้กล้ามเนื้อ ส่วนขนาดว่าจะทำได้ใหญ่แค่ไหนก็อยู่ที่เทคนิคของหมอและเนื้อของคนไข้เองว่ายืดได้มากน้อยเพียงใด และส่วนตัวหมอจะแนะนำไซส์พอดีๆ สัก 300-350 cc แต่สำหรับคนที่ยังไม่พอใจ อยากทำใหญ่มากๆ 500-600 cc อันนี้ก็จะเข้าไปเรื่องที่ว่าเจ็บเหมือนสิบล้อทับตามที่บอกก่อนหน้านี้ ซึ่งสำหรับหมอถ้าคนไข้ดึงดันแต่หมอคิดว่าไม่ปลอดภัยก็จะไม่ทำให้เลย เพราะต้องเลือกแบบที่ปลอดภัยและเหมาะสมให้คนไข้ที่สุด
12. ข้อควรระวังของคนที่ทำนมใหญ่เกินความเหมาะสม
หากทำหน้าอกใหญ่เกินไปมีโอกาสเกิด นมแฝด หลังผ่าตัดได้ นมแฝดเกิดในคนที่ต้องการทำให้นมใหญ่และชิดมากเกินไปจนร่องนมเสีย ไหลมารวมกันทั้งหมด จึงต้องมาผ่าตัดแก้ไขโดยการเย็บร่องใหม่จากด้านใน ซึ่งเป็นการได้ไม่คุ้มเสียเพราะแก้ไขยากมาก
รีวิวเสริมหน้าอกโดยหมอหลุยส์ (จาเรมคลินิก)
คำแนะนำเพิ่มเติมจากคุณหมอ
- ควรรู้ว่าตัวเองทำนมไปเพื่ออะไร ศึกษาหาข้อมูลดีๆ และควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดและแพทย์ต้องสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องจนเรามั่นใจก่อนตัดสินใจทำศัลยกรรม
- อย่าเห็นแก่ของถูก ในเรื่องของราคาทำหน้าอก จะถูกหรือแพงก็ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าสิ่งที่เราได้จะมีมาตรฐานหรือไม่ แนะนำให้ดูราคาที่เหมาะสมและดูว่าในราคานั้นๆ เราได้รับอะไรบ้าง บางที่อาจจะราคาสูงจริง แต่มีทั้งแพทย์วิสัญญี พยาบาลดูแล และห้องผ่าตัดที่ถูกต้อง บางที่ที่ราคาถูกอาจจะไม่มีอะไรให้เลย ซึ่งหมอคิดว่าเรทที่โอเคไม่ควรต่ำกว่า 50,000 บาท ถ้าต่ำกว่านี้ก็ควรพิจารณามากสักหน่อยก่อนตัดสินใจทำ
- ผ่าโดยหมอศัลยแพทย์หรือหมอทั่วไป หมอมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
- ได้ใบการันตีและกล่องของซิลิโคนเสริมหน้าอกกลับไปด้วย เพราะถ้าไม่ได้อะไรกลับเลยเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาใส่อะไรให้เรา หมอเจอเคสที่บอกว่าใส่ของดีจากที่อื่นมาแต่พอหมอถอดออกมาเป็นของจีนแดงก็มีเยอะเหมือนกัน
จบไปแล้วสำหรับคำแนะนำสุด Exclusive จากหมอหลุยส์ ใครที่เริ่มสนใจหรือกำลังลังเลว่าจะทำหน้าอกหรือไม่ทำดี ทำที่ไหนดี ลองไปปรึกษา Jarem Clinic กันได้เลย ที่นี่ถือเป็นคลินิกที่นางแบบและพริตตี้นิยมไปทำนมกันด้วยนะ ทางคลินิกและคุณหมอให้คำแนะนำดีมากๆ เหนือสิ่งอื่นใดอย่าลืมที่คุณหมอเน้นย้ำนะคะ ถามตัวเองกันหรือยัง..ว่าเราอยากทำนมไปเพื่ออะไร? ^^
ข้อมูลติดต่อ จาเรมคลินิก
- Facebook: JaremClinic
- Website: JaremClinic
- Line Official: bit.ly/2Qo2SX5
มีประสบการณ์เขียนบทความเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ความงามมากว่า 3 ปี โดยเฉพาะบทความด้านความสวยความงามของสาวๆ จะสนใจมากเป็นพิเศษ และหากสงสัยว่าทำไมต้อง little nomad? 'nomad' หมายถึงกลุ่มคนที่เดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ ใส่ 'little' เพิ่มเข้าไปเพื่อความน่ารักปุ๊กปิ๊ก เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชอบเที่ยวมากกกก ซึ่งไม่ใช่แค่เที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แต่ยังหมายถึงการท่องโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อตามเทรนด์บิวตี้ เรื่องสวยๆ งามๆ อีกด้วย นี่แหละค่ะคือเรื่องที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเรื่องดูแลหุ่น ผิวพรรณ ทางเราลองผิดลองถูกมาเยอะแล้ว เลยอยากมาแชร์เพื่อนๆ กัน!