Now Reading
ผัก 7 ชนิดที่ไม่ควรกินแบบดิบๆ และคนเป็นโรคอะไรห้ามกินผักดิบเด็ดขาด! 

ผัก 7 ชนิดที่ไม่ควรกินแบบดิบๆ และคนเป็นโรคอะไรห้ามกินผักดิบเด็ดขาด! 

พืชผักถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในทางตรงกันข้ามก็สามารถให้โทษกับร่างกายได้ด้วยเช่นกัน หากผู้ที่ทานไม่รู้จักวิธีการทานอย่างถูกต้อง วันนี้พี่อะเครุขอนำสาระความรู้เกี่ยวกับเรื่อง การกินผักดิบ มาฝากกัน เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าห้ามกินผักดิบเพราะไม่ดีต่อสุขภาพ จริงๆ แล้วทางการแพทย์ไม่ได้บอกว่าห้าม แต่ให้ระมัดระวังไม่ควรกินเยอะจนเกินไป และในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรคควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจอันตรายถึงชีวิต จะมีผักอะไรบ้างไปอัปเดตกันค่ะ

7 ผักที่ไม่ควรกินดิบ เพราะจะได้โทษซะมากกว่า!

1. กะหล่ำปลี

กะหล่ำปลีเป็นผักที่มีวิตามินซีสูง สามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง  และยังเป็นผักที่มีไฟเบอร์ช่วยลดคอเลสเตอรอล และลดน่้ำหนักได้ แต่ถ้าหากกินดิบๆ ก็มีโทษต่อร่างกาย โดยสรุปในกะหล่ำปลีมีสาร 3 ชนิดที่ถ้าหากกินดิบมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังต่อไปนี้

1. สารออกซาเลต (Oxalate) ถ้ากินมากเกินไป สารตัวนี้จะไปจับตัวกับแคลเซียมที่กรวยไต และจะกลายเป็นสารแคลเซียมออกซาเลต หากมีมากเกินไป ซึ่งมาจากการที่กินกะหล่ำปลีมากจนเกินไป เสี่ยงทำให้เป็นโรคนิ่วในไต

2. น้ำตาลชนิดที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ซึ่งส่งผลให้มีอาการท้องอืด แน่นท้อง

3. มีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) คือสารที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ เมื่อกินกะหล่ำปลีเข้าไปจะทำให้ร่างกายดึงไอโอดีนจากเลือดไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดโรคคอหอยพอกได้

ผู้ป่วยที่เป็นไฮโปไทรอยด์ไม่ควรทานกะหล่ำปลีดิบ แต่สำหรับคนปกติทั่วไปสามารถทานกะหล่ำปลีได้ แต่ไม่ควรทานมากเกินไป เพราะกะหล่ำปลีเป็นผักที่ติดอับดับ 1 ใน 5 ผักที่มีสารปนเปื้อนมากที่สุด ทางที่ปลอดภัยที่สุดควรนำไปปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

2. ถั่วงอก

ถั่วงอกมีทั้งไฟเบอร์และน้ำ ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารและขับถ่าย มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ มีสารประกอบไฟโตเอสเจนซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันมะเร็งต่างๆ แต่ปัจจุบันถั่วงอกดิบตามท้องตลาดทั่วไปมักผ่านการแช่สารฟอกขาว ให้ตรงกับความนิยมของผู้บริโภคในบ้านเราที่ชอบทานผักงอกที่มีลักษณะสีขาวเพราะรู้สึกว่าสะอาด ซึ่งจริงๆ แล้วตรงกันข้ามเลย สารพวกนี้ทำให้เกิดโทษเป็นพิษต่อร่างกายทั้งนั้น

อีกหนึ่งประเด็นคือในเรื่องของการเพาะปลูกถั่วงอกจะต้องใช้ความชื้นค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีเชื้อจุลินทรีย์อย่างพวกอีซัลโมเนลลา และอีโคไล เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ สำหรับในตัวถั่วงอกเองจะมีไฟเตทสูง ซึ่งสารตัวนี้จะไปจับกับแร่ธาตุบางชนิดที่อยู่ในอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายได้ หากทานดิบๆ มากเกินไปจะทำให้เป็นโรคขาดแร่ธาตุได้ค่ะ

ในผู้ที่แพ้อหารบางชนิดเมื่อทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ และปวดท้องได้ แต่สารทุกอย่างจะไม่สามารถส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ หากผ่านความร้อนและปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

3. หน่อไม้

หน่อไม้สดหรือดิบ มีสารที่เรียกว่า Cyanogenic glycoside มันสามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ได้ ซึ่งโทษของมันคือเป็นพิษต่อร่างกาย หากทานหน่อไม้ดิบเข้าไปเป็นจำนวนมากเกินที่ร่างกายรับไหว สารพิษดังกล่าวจะเข้าไปจับกับฮีโมโกลบิน หรือ ระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน ทุรนทุราย หมดสติ และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

กระทรวงสาธารณสุขเคยให้คำแนะนำไว้ว่า เพื่อความปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะทานหน่อไม้สด หรือหน่อไม้ดอง ควรให้ต้มไม่ต่ำกว่า 10 นาที เพราะจะช่วยสลายสารอันตรายต่างๆ ได้

4. ผักโขม

ผักโขมมีคลอโรฟิลล์ และมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์สูง อีกทั้งยังมีกากใยช่วยให้ร่างกายขับถ่ายดี และยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ มากมาย อาทิ ธาตุเหล็ก ซัลเฟอร์ เบต้าแคโรทีน แมกนีเซียม และแคลเซียมสูง แต่ในผักโขมดิบจะมีกรดออกซาลิก ความร้ายกาจของมันคือจะเข้าไปขัดขวางไม่ให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็ก และแคลเซียมไปใช้ได้

See Also

ซึ่งนั่นหมายความว่าคนทั่วไปสามารถทานผักโขมดิบได้ แต่กลุ่มคนที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ กลุ่มคนที่ขาดธาตุเหล็ก หรือแคลเซียม แต่ถ้าอยากกินจริงๆ เนี่ย ไปทำให้สุกก่อน แค่นั้นก็กินได้สบายหายห่วงแล้วค่ะ

5. มันสำปะหลัง

มันสำปะหลังก็มีสาร Cyanogenic glycoside (สารตัวนี้นั้นส่วนมากมักจะมีอยู่ในผักดิบที่กล่าวมาเลยนะคะ) สำหรับในมันสำปะหลัง ถ้าใครเผลอไปกินส่วนหัว ราก หรือใบ แบบดิบๆ ขึ้นมา จะทำให้พิษจากมันสำปะหลังเข้าไปขัดขวางการทำงานของระบบหัวใจ และทางเดินโลหิต ส่งผลให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง เวียนศีรษะ ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด!

6.ถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาวเป็นผักอุดมไปด้วยด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ๆ มากมาย หลากหลาย อาทิ วิตามินซี  วิตามินเอ วิตามินบี โฟเลต แมกนีเซียม และธาตุเหล็ก แต่ในปัจจุบันมีการใช้ยาปนเปื้อนอย่างยาฆ่าแมลงระหว่างการเพาะปลูกสูงมาก ดังนั้นแล้วจึงไม่ควรทานถั่วฝักยาวดิบๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารพิษ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย

กลุ่มคนที่ต้องระวังเป็นพิเศษเรื่องการทานถั่วฝักยาวดิบ คือกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องการย่อย และกลุ่มผู้สูงอายุ หากอยากทานดิบควรล้างให้สะอาด แต่ถ้าอยากปลอดภัยที่สุดควรทำให้สุกก่อนรับประทาน

7.บร็อคโคลี

ผักสีเขียวเข้มอย่างบร็อคโคลี มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ไม่แพ้ผักชนิดอื่น อาทิ แคโรทีนอยด์ และลูทีน ซึ่งช่วยบำรุงระบบประสาทตา ทำให้ห่างไกลจากโรคต้อกระจก มีวิตามิน B6 และโฟเลต ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง เป็นต้น แต่ถ้าหากกินบร็อคโคลี่ดิบๆ จะทำให้มีอาการท้องอืด และยังเป็นตัวกระตุ้นความเสี่ยงให้เกิดโรคไทรอยด์ ดังนั้นควรนำไปทำให้สุกก่อนทาน ไม่ว่าจะต้ม ผัด นึ่ง ก็ได้หมด เพียงเท่านี้ก็จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ จากบร็อคโคลีแล้ว

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการทำความสะอาดผักให้มีความปลอดภัย นอกจากการผ่านความร้อนทำให้สุกแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ อีก เช่น แช่น้ำปูนใส, แช่น้ำด่างทับทิม, ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อก, แช่น้ำซาวข้าว, แช่น้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น หรือแช่น้ำยาล้างผัก เป็นต้น นอกจากนี้ก่อนรับประทานทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาดด้วยนะคะ

ภาพจาก : instagrammernews , theqoo,  chuu_official, instagrammernews, therootedrd, thealternativedaily
View Comments (0)

Leave a Reply

Your email address will not be published.

CAPTCHA


Scroll To Top